การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

การสอนเขียนในสหรัฐอเมริกา

           บทความนี้สรุปความมาจากบทความของ Wikipedia ( 2010 ) เรื่อง Teaching Writing in the United States ซึ่งกล่าวถึงประวัติของการสอนเขียนในสหรัฐอเมริกาที่ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ  จากแนวคิดในการสอนหลายประการ  ดังนี้

           ความเป็นมา
           
              การเขียนคือ วิธีการที่เราใช้ในการเก็บ/รวมความคิดที่สำคัญต่อเรา  นับตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณจนถึงปัจจุบัน  ในโรงเรียนเราใช้การเขียนไม่เฉพาะการบันทึกความคิดเท่านั้น  แต่ยังเป็นการใช้การเขียนเพื่อทำความกระจ่างในความคิดและสังเคราะห์ความคิดอีกด้วย  จากการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของโรงเรียน  ได้ค้นพบว่าการเขียนและผลสัมฤทธิ์ในวิชาต่างๆมีความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ  ถือเป็นหัวใจสำคัญของทางเลือกเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรที่ครูต้องเลือก


การสอนเขียนในระยะแรก
         
           การสอนเขียนในระยะแรกเน้นเฉพาะกฎเกณฑ์ทางภาษาเป็นสำคัญ  ได้แก่ การคัดลายมือ  ไวยกรณ์  การเขียนเว้นวรรคตอนและการสะกดคำ  การประเมินผลงานเขียนของนักเรียน  อยู่ที่ความแม่นยำในกฏเกณฑ์ทางภาษาและความถูกต้องของเนื้อหามากกว่ารูปแบบการเขียนและความคิดสร้างสรรค์  การเรียนการสอนเขียนจึงถูกกำหนดอยูในกรอบแคบๆ  จึงง่ายต่อการกำหนดทักษะที่ครูจะฝึกแก่นักเรียน

                                  การสอนกระบวนการเขียน 
                                  ( Writing process approach )
          
                 การวิจัยการสอนเขียนในยุค ค.ศ.1970 เริ่มหันมาเน้นกระบวนการแทนที่จะเน้นเพียงผลงานเขียน  การสอนกระบวนการเขียนมาจากความคิดที่ว่า  การเขียนเป็นงานที่สลับซับซ้อนและเป็นงานของแต่ละบุคคล  ที่สามารถอธิบายได้ด้วยขั้นต่างๆของการเขียนที่กลับไปกลับมาได้  ได้แก่ การเตรียมการก่อนเขียน การเขียน การแก้ไข และการปรับปรุง  ซึ่งสามารถจัดทำเป็นตัวแบบและนำมาสอนนักเรียนได้  ทั้งช่วยให้ครูวิเคราะห์ถึงปัญหาในการเขียนของนักเรียน การจัดการเรียนการสอนและการสนับสนุนนักเรียนให้เขียนได้อย่างเหมาะสม  แนวคิดเกี่ยวกับการสอนกระบวนการเขียนช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ว่านักเขียนจริงๆปฏิบัติงานอย่างไร  ช่วยให้ตัวแบบที่หลากหลายและให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อแก้ไขงานเขียน  นักเรียนจะได้รับการส่งเสริมให้เลือกหัวข้อเรื่องด้วยตนเอง ตั้งจุดประสงค์ในการเขียนเอง  และเป็นการเขียนที่มีผู้อ่านจริง  แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วสหรัฐอเมริกา


            การเขียนทุกวิชาทั้งหลักสูตร
            ( Writing across the curriculum )
                         
                       ในยุค ค.ศ. 1980 และ 1990 มีแนวคิดใหม่ในการสอนเขียนเกิดขึ้น  ด้วยครูตระหนักว่าการสอนเขียนให้ได้ผลดีนั้น  งานเขียนขึ้นกับจุดประสงค์และผู้อ่านที่เฉพาะเจาะจง  จึงจำเป็นที่ต้องมีการเขียนทั้งหลักสูตร  และมีความคิดว่าครูทุกคนต้องสอนเขียน  ไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของครูที่สอนภาษาเท่านั้น  แนวคิดนี้ลดการแบ่งแยกระหว่างภาษาและความรู้ในเนื้อหาวิชา  และเน้นการเชื่อมโยงระหว่างการเขียนกับการพัฒนาความคิด  นักเรียนจะได้รับการสอนให้เขียนรูปแบบที่หลากหลาย  มีจุดประสงค์การเขียนและสาขาวิชาเฉพาะเจาะจง  การเขียนทั้งหลักสูตรจะเน้นหลักสำคัญ 2 ประการคือ การเขียนเพื่อการเรียนรู้ ( Writing to learn ) ซึ่งเป็นการเขียนที่นำทางให้นักเรียนเข้าใจความคิดรวบยอดได้อย่างลึกซึ้ง  และการเขียนในสาขาวิชา  ซึ่งเป็นการสอนทักษะและกฎเกณฑ์ที่จำเป็นต่อการเขียนบรรยายในวิชานั้นๆ

               การเขียนเพื่อความเข้าใจ 
               ( Writing for understanding )


                    การเขียนเพื่อความเข้าใจเป็นแนวคิดในยุคศตวรรษที่ 21 โดยปรับมาจากหลักการของการออกแบบย้อนกลับ ( Backward design ) มาสู่การสอนนักเรียนให้เขียนได้อย่างมีประสิทธิผล  แนวคิดนี้เกิดจากการ     ตระหนัว่านักเรียนส่วนใหญ่ต้องการวิธีการสอนที่ชัดเจนทั้งความรู้และโครงสร้างที่เขาต้องนำไปใช้สร้างความหมายในการเขียน  การอธิบายและการให้ตัวแบบจึงเป็นหลักการสำคัญของการสอนเขียน  กล่าวโดยสรุปการสอนเขียนตามแนวคิดนี้มี หลักสำคัญ 3 ประการคือ การออกแบบย้อนกลับ  ความเข้าใจและการสอนทางตรง  นักเรียนจะได้รับรู้ถึงจุดเน้น  การเรียนการสอนที่เฉพาะเจาะจงและการฝึกปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้
                1.  พัฒนาความรู้ และความเข้าใจในสิ่งที่ช่วยในการพูดและการเขียนที่ชัดเจน
                2.  ระบุจุดเน้นที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการสังเคราะห์ความรู้และความเข้าใจ
                3.  เลือกโครงสร้างที่จะนำเสนอความรู้และความเข้าใจได้อย่างชัดเจน
                4.  ระมัดระวังเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางภาษา


   การสอนเขียนในค.ศ.2009 ถึงปัจจุบัน
  
                      คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการเขียนของสหรัฐอเมริกา  ได้เสนอความคิดที่ต้องการให้มีการสอนที่ทำให้นักเรียนทุกคนเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เขียนให้ชัดเจนและเขียนอย่างใช้ความคิด  ในปัจจุบันหลายองค์กรพยายามกำหนดมาตรฐานกลางในการสอนภาษาอังกฤษขึ้นใหม่  ซึ่งจะมีผลต่อหลักสูตรการสอนเขียนและการปฏิบัติในทศวรรษหน้า

           *** หมายเหตุ***  
                       
                          ผู้เรียบเรียงนำเสนอบทความนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า  ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าเจริญก้าวหน้าทมีพัฒนาการสอนเขียนอย่างเป็นขั้นตอน  และมีการเพิ่มมาตรฐานในการสอนมากขึ้นเป็นลำดับ  เพื่อให้ผู้อ่านได้ย้อนคิดทบทวนว่าการสอนเขียนของไทยได้ก้าวจากจุดใดไปยังจุดใดชัดเจนหรือไม่ ( ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีแนวทางเช่นเขา) เราได้ก้าวไปข้างหน้าบ้างหรือไม่
ออกกำลังทุกวัน  ร่างกายแข็งแรง  เพื่อคิดสร้างสรรค์สิ่งดีงามแก่เด็กไทยทุกคน 
 นะคะ

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

หลักการสำคัญในการสร้างแผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียน

          การสร้างแผนภาพหรือการออกแบบแผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียน เป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนจะต้องแนะนำผู้เรียนให้ใช้ความรู้ ความเข้าใจในโครงสร้างของรูปแบบการเขียนโดยใช้งานศิลปะมาช่วย  โดยการวาดภาพประกอบหรือคิดทำแผนภาพต่างๆให้น่าสนใจและมีความเหมาะสมกับจุดประสงค์ในการเขียนนั้นๆ  ครูผู้สอนต้องมีการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ในขั้นตอนการวางแผนงานเขียน  โดยเฉพาะในกระบวนการเขียนจะทำให้ผู้เรียนนำแผนภาพไปพัฒนางานเขียนได้ดียิ่งขึ้น

                 ขั้นตอนการสร้างแผนภาพ

           ๑. กำหนดชื่อเรื่องหรือข้อความหลักหรือความคิดรวบยอดซึ่งเป็นคำสำคัญของหัวเรื่องที่จะเขียน

           ๒. ระดมสมองเกี่ยวกับชื่อเรื่องหรือความคิดหลักหรือความคิดรวบยอด  ที่เกี่ยวกับคำสำคัญนั้นๆ แล้วจดบันทึกไว้

           ๓. นำคำ วลี หรือข้อความที่จดบันทึกมาจัดกลุ่มให้มีความสัมพันธ์กัน  จัดเป็นหัวข้อย่อยและเรียงลำดับกลุ่มคำ วลี หรือข้อความนั้นๆ

          ๔. นำคำ วลี หรือข้อความที่เป็นจุดเน้นให้ล้อมกรอบโดยรูปเรขาคณิต หรือวาดภาพประกอบให้เด่นชัดขึ้น
          ๕. ออกแบบแผนภาพโดยวางชื่อเรื่องวางไว้กลางหน้ากระดาษ  แล้ววางชื่อ กลุ่มคำ(หัวข้อย่อย) รอบชื่อเรื่อง  นำคำที่สนับสนุนวางรอบกลุ่มคำแรก  แล้วใช้เส้นโยงกลุ่มคำให้เห็นความสัมพันธ์  เส้นโยงอาจใช้สีหรือภาพ/ภาพลายเส้นประกอบกลุ่มคำ  เพื่อเป็นการอธิบายไปในตัว


                                                       วิธีการสอนการใช้เขียนแผนภาพ

          การสอนให้นักเรียนสามารถสร้างและใช้แผนภาพมีหลักการสำคัญดังนี้ ( Ellis and Howard 2007) 
          ๑. ครูอภิปรายกับนักเรียนถึงเรื่องแผนภาพว่าคืออะไร และใช้ประโยชน์อย่างไร
          ๒. ครูแสดงให้นักเรียนเห็นตัวอย่างของแผนภาพ และสิ่งที่ไม่ใช่แผนภาพ
          ๓. ครูใช้แผนภาพที่สมบูรณ์ในการสอน  หรือให้นักเรียนเติมแผนภาพให้สมบูรณ์ในขณะที่เรียน
          ๔. ครูให้นักเรียนเติมช่องว่างของแผนภาพ  โดยใช้เครื่องฉายที่ขยายแผนภาพบนจอ เพื่อเป็นการทำร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน
          ๕. ครูให้แผนภาพที่เกือบสมบูรณ์แก่นักเรียน โดยครูกับนักเรียนช่วยกันเติมแผนภาพให้สมบูรณ์ หรือครูให้นักเรียนทำเป็นกลุ่มและรายบุคคล
          ๖. ครูให้แผนภาพที่มีช่องว่าง  แล้วให้กลุ่มนักเรียนหรือนักเรียนเป็นรายบุคคลเติมแผนภาพให้สมบูรณ์
          ๗. ครูให้นักเรียนออกแบบและสร้างแผนภาพด้วยตนเอง  อาจทำเป็นกลุ่มเล็กหรือรายบุคคล
          ๘. ครูสอนบทเรียนสั้นๆ หรือประเด็นเรื่องต่างๆของกลุ่มสาระการเรียนรู้  แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มหรือรายบุคคลนำเสนอแผนภาพ  และอธิบายต่อหน้าชั้นเรียนให้ทราบว่าทำไมจึงเลือกแผนภาพนั้นในการวางแผนการเขียน

                การทำแผนภาพช่วยในการพัฒนางานเขียน  โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา
การใช้แผนภาพเป็นการวิเคราะห์หัวข้อเรื่องและหัวข้อย่อยออกมาเป็นภาพ  เพื่อนำไปสู่  การเขียนและการคิด  ทำให้เขียนเรื่องหรือสรุปเรื่องได้อย่างครบถ้วนและมีเหตุผล 

                เนื่องจากแผนภาพมีหลายรูปแบบ  ก่อนที่ครูจะให้นักเรียนเลือกใช้แผนภาพตามรูปแบบการเขียนใดๆ  ครูจะต้องศึกษาและให้นักเรียนรู้ว่าการเขียนรูปแบบใด/เนื้อหาหรือข้อมูลใดเหมาะสมกับแผนภาพใด  แล้วจึงนำแผนภาพตามลักษณะของโครงเรื่องนั้นไปใช้ในการพัฒนางานเขียนต่อไป

การเริ่มต้นสอนการใช้แผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียนสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา  เป็นการเริ่มต้นของการจัดระเบียบความคิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการเขียนตามรูปแบบ  ในหลักสูตรแกนกลางสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สวัสดีปีใหม่...๒๕๕๕





         ส.ค.ส. ๒๕๕๕...............สวัสดีปีใหม
                       คิดใหม่......คิดดี
                       ใจใหม่.......ใจดี
                      สติใหม่......สติดี
                      วันใหม่......วันดี
        ทุกๆวันของปี....เป็นวันที่คิดดีๆ
               เป็นวันที่มีใจดีๆ
              เป็นวันที่มีสติดีๆ
           เพราะทุกวันเป็นวันดี

           

           มังกรน้อมอำนวยพร
          
      สุขสโมสรเกษมศรี
          
      ให้ครูไทยทั่วปฐพี
           
      รักษ์สอนศิษย์เป็นคนดี  

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การใช้แผนภาพ ในการพัฒนางานเขียน ตอนที่ 1 : ความหมายและประโยชน์ของแผนภาพ

          ความหมายของแผนภาพ ( Graphic Organizers )
          แผนภาพ ( Graphic Organizers )  คือ การใช้แผนภาพแสดงเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริง คำ หรือความคิดในภารกิจแห่งการเรียนรู้ บางครั้งก็เรียกว่า แผนที่ความรู้ ( Knowledge maps )  แผนที่มโนทัศน์ ( Concept maps ) แผนที่เรื่อง ( Story maps ) แผนภาพความคิด ( Cognitive maps ) หรือแผนผัง   มโนทัศน์ ( Concept diagrams )( Hall and Strangman 2004 )  หรือในอีกความหมายหนึ่ง  แผนภาพคือวิธีการใช้ภาพสร้างองค์ความรู้และเรียบเรียงสารสนเทศ  ช่วยย่นย่อสารสนเทศที่มีอยู่มากมาย และดูประหนึ่งไม่สัมพันธ์กัน  ให้เป็นโครงสร้างที่อ่านง่าย  ทำให้สิ่งที่ซับซ้อนง่ายต่อการเข้าใจ ( Enchanted Learning 2010 )

              ประโยชน์ของแผนภาพ


         แผนภาพเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าต่อการเรียนการสอน  เพราะแผนภาพทำให้นักเรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหัวเรื่องที่เรียน  โดยการที่นักเรียนใช้แผนภาพในการแสดงลำดับความสำคัญของสารสนเทศ  จัดประเภทความคิด และมุ่งความสนใจไปยังความสัมพันธ์ระหว่างสารสนเทศกับความคิด  แผนภาพช่วยเรียบเรียงความคิดและมโนทัศน์เป็นภาพ  ทำให้สารสนเทศที่มีมากมายจากนามธรรมเป็นรูปธรรม ( Hartman 2002 ) แผนภาพช่วยใน     การจัดทำโครงสร้างงานเขียน   มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจในการอ่าน  เป็นเครื่องมือในการเรียนทุกวิชาและทุกระดับ    ใช้ในการตัดสินใจ  การวางแผนงานวิจัย  และการระดมสมอง ( Ross 2010 ; Wik Ed 2010 )

              แผนภาพสามารถใช้ได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียนการสอน  ครูและนักเรียนสามารถใช้แผนภาพได้ในลักษณะต่อไปนี้

             
                         ในด้านของครู...... ใช้แผนภาพได้ดังนี้
                                           
                1. แสดงและอธิบายข้อความ
                2. ใช้บันทึกกลวิธีการคิดในการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาต่างๆ
                3. ช่วยนักเรียนในการเรียบเรียงความคิดในการเขียน
                4. ช่วยนักเรียนวิเคราะห์  สังเคราะห์ สารสนเทศต่างๆ
                5. ช่วยนักเรียนเรียงความคิดก่อนการเขียน
                6. ช่วยครูเตรียมตนเองในการสอนสารสนเทศใหม่ๆ


                  ในด้านของนักเรียน..... ใช้แผนภาพดังนี้

      1. วางโครงสร้างในการจดบันทึกสารสนเทศที่สำคัญ
      2. ช่วยสร้างความคิด
      3. ช่วยนำทางการอ่าน
      4. เรียบเรียงความคิดในขั้นเตรียมการก่อนเขียนในกระบวนการเขียน
      5. ช่วยในการเลือกและวางลำดับโครงสร้างใหม่ และเก็บสารสนเทศไว้
                                    6. สร้างสรรค์แผนภาพที่จะช่วยให้เข้าใจและอธิบายได้
                                    7. เชื่อมโยงความคิดและมโนทัศน์ต่างๆ
                                    8. ช่วยเน้นความสนใจต่อสิ่งสำคัญที่สุด
                                    9. สรุปความจากสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ และเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับสิ่งที่รู้แล้ว

              แผนภาพใช้เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนที่ได้ผลดีในทุกระดับชั้นจนถึงระดับมหาวิทยาลัย  แต่ที่ใช้ได้ดีมากที่สุดคือระดับประถมศึกษา  ใช้ได้ผลดีทุกขั้นตอนของการเรียนการสอน  ทั้งก่อนและหลังการเรียนการสอน  แต่ถ้าใช้ในการอ่าน  ควรใช้หลังการอ่านจะทำให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ดีกว่า ( Hall and Strangman 2004 ) จากการวิจัยพบว่า ใช้ได้ดีในการอ่านและการเขียน และพบประสิทธิภาพของการใช้แผนภาพกับการเรียนการสอนภาษาทั้งการอ่านและการเขียน วิชาวิทยาศาสตร์  สังคมศึกษาและคณิตศาสตร์ ( Wik Ed 2010 )


ตอนต่อไปจะนำเสนอ"หลักการสำคัญในการสร้างแผนภาพ " นะครับ

การสอนคัดลายมือ

          การคัดลายมือเป็นทักษะการรับรู้ที่ซับซ้อน ขึ้นกับความเจริญเติบโตทางร่างกาย การรับรู้และเข้าใจผ่านประสาทสัมผัสและการสอนของครู  ปัญหาการเขียน/การคัดลายมือมักถูกมองข้าม และเข้าใจผิดว่าเด็กไม่อยากคัดลายมือเพราะขี้เกียจ  แท้จริงแล้วในทางตรงกันข้ามเด็กลังเลที่จะผลิตงานเขียนและเป็นสิ่งหนึ่งที่เด็กไม่ชอบทำที่โรงเรียน  เพราะถูกสั่งให้เขียนอย่างเรียบร้อย ในที่นี้จะขอเสนอความคิดและข้อสังเกตแก่ครูภาษาไทยเพื่อทบทวนความคิดและหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่การสอนคัดลายมือ ดังนี้

         การฝึกทักษะการคัดลายมือรวมถึงการฝึกทักษะการมอง  ในขณะที่เด็กคัดลายมือเด็กต้องใช้กล้ามเนื้อมือและการประสานสัมพันธ์การเคลื่อนไหวทางร่างการและความคิดในขณะคัดลายมือ
       
         การฝึกทักษะการมอง / สังเกตสิ่งต่างๆรอบตัว เช่น สิ่งของเครื่องใช้ในห้องเรียน  ธรรมชาติ  ภาพการ์ตูน หรือรูปร่าง-รูปทรงของผัก ผลไม้ จะช่วยให้เด็กรับรู้ทางสายตาในการแยกแยะระหว่างรูปร่าง รูปทรงต่างๆ แล้วตีความสิ่งที่มองเห็น เมื่อเด็กคุ้นเคยกับสิ่งต่างๆที่เป็นของจริงและรู้สิ่งต่างๆที่เป็นสัญลักษณ์แล้ว  เด็กจะตัดสินใจเลือกปฏิบัติการเขียนตามรูปร่าง/รูปทรงนั้นๆ และเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องคัดลายมือตัวอักษร

          ความสามารถในการจัดเก็บหน่วยความจำและการดึงข้อมูลจากการจำตัวอักษร และรูปแบบคำ มีความสัมพันธ์ต่อการคัดลายมือ เพราะการให้เด็กคัดลายมือคำหรือประโยคที่ยากและไม่มีความสัมพันธ์ต่อการใช้ของเด็ก จะทำให้การคัดลายมือไม่มีความหมายและไม่เสริมต่อการเรียนรู้คำ/การเรียนรู้ทางภาษา

          การสอนให้เด็กจับดินสอหรือปากกาอย่างสมดุล  จะช่วยให้เด็กใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางในการเคลื่อนไหวขณะเขียน ช่วยให้เขียนได้อย่างคล่องแคล่ว

         เด็กที่เกลียดการคัดลายมือ/การเขียน   บางส่วนเป็นเด็กที่มีปัญหาการรับรู้และมีปัญหาในการอ่าน      เด็กกลุ่มนี้จะมีความยากลำบากในการจำตัวอักษรและจดจำคำ  เด็กบางคนไม่สามารถแยกแยะด้วยสายตาว่าตัวอักษรที่เขาคัดนั้นคือตัวอะไร  ครูสามารถช่วยเด็กกลุ่มนี้โดย

         1. การใช้แถบอักษร ( ก-ฮ ) วางไว้ที่มุมโต๊ะ  ในขณะที่เด็กคัดลายมือหรือเขียน  จะได้มองเห็นลักษณะอักษรและจดจำตัวอักษรนั้นได้

         2. การเพิ่มหรือลดเวลาการคัดลายมือ  รวมทั้งจำนวนชุดคำที่เขียน โดยการมอบหมายให้เด็กคัดลายมือตามความสามารถและลำดับคำที่ง่ายไปยาก

       
3. การฝึกพูดและอ่านออกเสียงควบคู่กับการคัดลายมือ

4. การฝึกเขียนบนวัสดุต่างๆแทนกระดาษ เช่น กระดานดำ หรือการสำเนาตัวอักษรเฉพาะบางตัวที่เป็นปัญหาให้เด็กฝึกเป็นรายบุคคล โดยการเล่นเกมจับคู่อักษรหรือเกมทายพยัญชนะไทย

          5. การกวาดสายตาจากซ้ายไปขวา และจากบนลงล่าง  มีสำคัญในการฝึกคัดลายมือหรือการเขียนตของเด็ก เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของการอ่านและเขียนของภาษาไทย

          6. สำหรับเด็กระดับปฐมวัยหรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ครูหรือผู้ปกครองควรสนับสนุนให้เด็กใช้สีเทียนหรือดินสอสีในการเขียนรูปร่างต่างๆอย่างอิสระ  ก่อนจะเริ่มเขียนอักษร  รวมทั้งการเล่นกับตัวอักษรเพื่อให้คุ้นเคยและสามารถแยกแยะความเหมือนความต่างของตัวอักษรได้

           7. ควรใช้เส้นบรรทัด 5 เส้น หรือเส้นบรรทัดที่มีเส้นประในการฝึกคัดลายมือ โดยมีตัวอย่างการเขียนอักษรตามลำดับการเขียน  ให้เด็กได้ฝึกลากเส้นตามอย่างที่ถูกต้อง

           8. ครูหรือผู้ปกครองควรติดตามการฝึกคัดลายมือของเด็กว่ามีพัฒนาการอย่างไร เพื่อช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคล  รวมทั้งการที่เด็กถนัดมือขวา-ซ้ายต่างกัน ไม่ควรบังคับเด็ก

            9. การสื่อสาร พูดคุยกับเด็กใหเด็กรู้ความก้าวหน้าของตนเองจะสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้สึกประสบความสำเร็จ  และเห็นความสำคัญของการคัดลายมือ  หากเด็กสนใจอยากฝึกเพิ่มเติม ก็ควรหาชุดคำ เรื่องที่คัดสรรให้เด็กฝึกเพิ่มเติมที่โรงเรียนหรือบ้าน

              การคัดลายมือมีรูปแบบการเขียนหลายแบบ  เช่น

ตัวอักษรแบบ
กระทรวงศึกษาธิการ



ตัวอักษรแบบอาลักษณ์





พบกันในครั้งต่อไป
ในเรื่องการใช้แผนภาพในการพัฒนาการเขียนนะครับ






วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ครูที่มีความสามารถสูง

            เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว(ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2554) ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมประชุมปฏิบัติการการจัดการความรู้ ของสพฐ. ซึ่งจัดที่โรงแรมริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ ผู้ร่วมประชุมมีทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครูภาษาไทย ครูคณิตศาสตร์ และครูที่จัดกิจกรรมบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดการประชุมดังกล่าวผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการความรู้ผ่านกระบวนการเขียนเล่าประสบการณ์ การสนทนากลุ่มและการแลกเปลี่ยนกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติแล้วและมีผลการปฏิบัติดี  ที่สำคัญคือได้เรียนรู้วิธีการทำงานของเพื่อนครูภาษาไทยทั้ง 38 คน ในเวลา 4 วันเป็นวันที่มีความหมาย ทำให้ผู้เขียนทบทวนความคิดและประมวลความหมายของ "ครูที่มีคุณภาพ:ครูที่มีความสามารถสูง"จากการประชุมและจากความคิดของนักวิชาการ ดังนี้

           Steve Peha (2010) ให้มุมมองถึงลักษณะ7ประการที่ครูพึงปฏิบัติอยู่เสมอแล้วจะเป็นครูที่มีคุณภาพ/มีความสามารถสูง ซึ่งมีมุมมองแตกต่างจากสิ่งที่เราคุ้นเคย และมีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของครูภาษาไทย ที่ผู้เขียนได้พบในการประชุม  ดังนี้

        1.กระทำกับสิ่งที่มีอยู่ไม่ใช่กระทำกับสิ่งที่ขาดหายไป  โรงเรียนหรือครูมักจะวัดผลนักเรียนเพื่อที่จะพิจารณาจุดด้อย แล้วแยกนักเรียนออกไปอยู่กับกลุ่มด้อย จากนั้นก็พยายาม "เติมเต็มช่องว่าง"ของความสามารถของนักเรียน ด้วยการจัดการเรียนการสอนของครู ราวกับว่านักเรียนเป็นกระดานชนวนที่ว่างเปล่าสำหรับเขียน หรือเป็นภาชนะที่ว่างเปล่าสำหรับเติมเต็มสิ่งใดๆลงไป  แต่จากการวิจัยเกี่ยวกับสมองและสามัญสำนึกบอกให้เราทราบว่า นักเรียนเรียนได้ดีกว่าถ้าครูสอนจากพื้นฐานที่เขารู้อยู่แล้ว(สิ่งที่เขามีอยู่) ไม่ใช่สอนจากสิ่งที่เขาไม่รู้(สิ่งที่เขาไม่มี)
      2. จัดการวัดและประเมินผลเพื่อความเข้าใจตัวนักเรียน ไม่ใช่เพื่อการตัดสินดีหรือเลว ครูควรมีมุ่งหมายที่จะรู้จักนักเรียนอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ในฐานะมนุษย์โดยภาพรวมทั้งหมด มากกว่าที่จะคำนึงถึงเกรดหรือคะแนน 


     3. แสวงหาตัวแบบไม่ใช่แก้ไข  การแก้ไขนักเรียนโดยการให้คะแนนผลงานและการทดสอบ ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ แต่กลับสูญเสียเวลาและไม่ใช่หนทางที่ได้ประโยชน์ การแก้ไขเป็นการบอกถึงความผิด  ไม่ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ในจุดที่ต้องการ แต่นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากตัวแบบและแก้ไขด้วยตนเอง

     4. จัดหาเครื่องมือให้ไม่ใช่ให้กฎเกณฑ์  โดยมากการสอนเป็นการให้กฎเกณฑ์ ให้นักเรียนทำสิ่งนั้นไม่ทำสิ่งนี้ เป็นการเพิ่มกฎเกณฑ์ แต่ลดศักยภาพของนักเรียนในการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นความสามารถพื้นฐานที่เราหวังจะให้เด็กมีก่อนที่เขาจะจบการศึกษาไปจากโรงเรียน

     5. คำนึงถึงกระบวนการไม่ใช่ผลงาน นักเรียนไม่ว่าวัยใด ความสามารถระดับใด จะมีความก้าวหน้าได้ดีถ้าเราให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ มากกว่าคำแนะนำเกี่ยวกับผลงาน  การให้คุณค่าในเรื่อง "นักเรียนเรียนรู้อย่างไร" เพิ่มเติมจากเรื่อง "นักเรียนเรียนรู้อะไร" เป็นการคำนึงถึงนักเรียนแต่ละบุคคล และให้พื้นฐานแก่เขาสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต


     6. ควบคุมกิจกรรมไม่ใช่ควบคุมนักเรียน  นักเรียนต้องการโครงสร้างการเรียนการสอน โดยเฉพาะตอนเริ่มต้น  แต่โครงสร้างนั้นต้องไม่กำหนดว่านักเรียนต้องทำอะไรและทำอย่างไร เพราะนักเรียนต้องการทางเลือกในการเรียนรู้และการแก้ปัญหา ถ้านักเรียนไม่ได้เลือกจะทำให้เขาขาดความรู้สึกความเป็นเจ้าของ และถ้่าไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ จะทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจน้อยที่จะทำให้ดีที่สุด

     7. ยกย่องชมเชยความพยายามไม่ใช่ผลงาน  นักเรียนต้องการการยกย่องชมเชยจากครู ซึ่งจะทำให่เขาเต็มใจทำในสิ่งนั้น ครูจึงควรยกย่องชมเชยความพยายามแทนผลงาน เพราะนักเรียนทุกคนไม่ได้ประสบความสำเร็จในงานที่เขาพยายามทำ  โดยเฉพาะงานใหม่ๆ แต่ถ้าเมื่อใดที่นักเรียนมีความพยายามทำงานนั้นๆ เขาย่อมมีโอกาสเรียนรู้และปรับปรุงตนเอง

        ขอขอบคุณ อ.ดุจดาว เจ้าของโครงการ ครูภาษาไทยทั้ง 38 คนและศึกษานิเทศก์กัลยาณมิตรทั้ง 3 คน(ศน.ประไพพิศ  ศน.สิรี และ ศน.ชโลบล) ที่ร่วมถอดประสบการณ์การจัดการความรู้ของครูภาษาไทย ที่ทำให้เกิดบทความนี้ค่ะ