การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หัวใจนักปราชญ์ : การอ่าน คิดวิเคราะห์ และการเขียน

          ความสามารถในการอ่าน  การคิด  และการเขียน  เป็นจุดเน้นที่สำคัญของพระราชบัญญัติ  การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๔๕ และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑

          ความสามารถในการอ่าน  การคิด และการเขียน  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นนักปราชญ์   โดยเฉพาะการเขียนซึ่งเป็นการแสดงผลของการอ่าน  การใช้ความคิด  การตั้งคำถาม  ผลงานการเขียนจึงเป็นการสะท้อนความเป็นนักปราชญ์   ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการนำมาเป็นเกณฑ์ๆหนึ่งในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน

        พระยาอุปกิตศิลปสาร(๒๕๔๖) ได้แสดงถึงความสำคัญของการอ่าน  การคิด  และการเขียน ไว้ในหัวใจนักปราชญ์ ดังนี้
        หัวใจนักปราชญ์ "สุ. จิ. ปุ. ลิ." ที่ข้าพเจ้าจะนำมาอธิบายให้ท่านฟัง  บัดนี้ท่านคงทราบกันมาแล้วว่า สุ. คือ การฟัง  จิ. ได้แก่ จินตะ คือการคิด  ปุ. ได้แก่ ปุจฉา คือ การถาม  และ ลิ. ได้แก่ ลิขิต  คือ การเขียน...
 
        ๑. สุ.  คือ สุต  การฟัง  ได้แก่ การแสวงหาความรู้ เพราะการเล่าเรียนในสมัยโบราณต้องอาศัยการฟังเป็นพื้น  เพราะการใช้หนังสือยังไม่แพร่หลาย จึงจัดเอาการฟังเป็นหัวข้อสำคัญ  คนที่จะเป็นนักปราชญ์ได้ต้องฟังมามาก  ซึ่งเรียกว่า "พหูสูตร" คือ ผู้ฟังมาก แต่สมัยนี้วิชาหนังสือแพร่หลายทั่วไป จึงควรนับ การอ่านเข้าไปในข้อพหูสูตรนี้ด้วย คือ  รวมความว่าผู้มี่เป็นนักปราชญ์จะต้องฟังมากและอ่านมากด้วย

         ๒.  จิ. คือ จินตนะ แปลว่า ความคิด  เป็นศัพท์พวกเดียวกับ "จิต" ว่าเครื่องคิด คือ   ใจเรานี้เอง  คำว่า จิ. คือความคิด  ในที่นี้ท่านหมายความว่า "ให้ใช้ความคิด"  ซึ่งเป็นขั้นที่ ๒ รองจากการฟังหรือ    การอ่าน กล่าวคือ เมื่อเราฟังหรืออ่านเรื่องราวใดๆ  เราต้องคิดตามไปด้วย ไม่ใช่ปล่อยจิตไปตามยถากรรมอย่างฟังเสียงนกเสียงกา  ถ้าพบข้อความแม้จนคำพูดที่ไม่เข้าใจหรือสงสัย  ก็ผูกจิตไว้ตรึกตรองภายหลัง  เพราะถ้าจะเอามาตรึกตรองเวลานั้น  ก็จะไม่ได้ฟังเรื่องต่อไปหรือจะจดย่อๆก็ได้... เพราะฉะนั้นเราจึงควรใช้ความคิดในการอ่านให้เหมาะสมแก่ฐานะที่เราเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาจึงจะเหมาะ  กล่าวคือ ต้องใช้ จิ. ไปด้วยให้ได้รับความรู้สมค่าที่ลงทุนอ่าน...

          ๓.  ปุ. คือ ปุจฉา การถาม เป็นข้อสำคัญไม่แพ้ข้อต้นๆ ผู้ที่จะเป็นนักปราชญ์ต้องพยายามแสวงหาความรู้ในการถาม  กล่าวคือเมื่อเราฟังหรืออ่าน  ถ้าพบข้อความหรือถ้อยคำที่สงสัยหรือไม่เข้าใจ ก็ผูกจิตไว้ตรึกตรองและค้นคว้าหาความเข้าใจ   โดยการสอบถามผู้ที่เรามั่นใจว่าเขารู้ดี  ไม่กระดากอายในการไต่ถามสิ่งที่เราไม่รู้  เพราะการทนงตัวว่าเรารู้มาก ดูถูกผู้อื่นว่าไม่รู้และการถือเกียรติว่าไม่ควรถามผู้ที่ตำ่ต้อย กว่าตน  ทั้ง ๓ ประการนี้เป็นมารที่จะรั้งเราให้ลงจากฐานะเป็นนักปราชญ์  แต่ต้องรักษาจริยวัตรในการถามให้มากๆ คือ แสดงให้เขาทราบว่า ถามเพื่อต้องการความรู้จริง  ด้วยความเคารพจริงๆไม่ใช่การถามเพื่อสอบไล่เขาหรือถามเพื่อขัดคอเขาหรือเพื่อข่มเขาให้อาย

          ๔.  ลิ. คือ ลิขิต แปลว่า เขียนไว้  กล่าวคือ  ท่านได้บันทึกข้อที่ควรรู้ควรจำ  ลิ. นี้สำคัญกว่าอื่น  เพราะเป็นการแสดงผลของการฟัง  การอ่าน  การใช้ความคิด  การถาม  ในสมัยโบราณการบันทึกข้อความนับว่าสำคัญมาก  เพราะมีผู้รู้หนังสือน้อย  ท่านจึงตั้งไว้เป็นหัวใจข้อสุดท้ายของนักปราชญ์ เพนาะสำคัญที่สุดและสำคัญจริงๆ

          โดยสรุป 
                       การอ่าน  การคิดวิเคราะห์  และเขียน  หมายถึงความสามารถในความเป็นนักปราชญ์  (ผู้รู้ผู้มีปัญญา)  แสดงผลงานการเขียนเพื่อการสะท้อนความเป็นผู้รู้  ผู้มีปัญญา  ผลงานการเขียน(ลิขิต) เป็นผลงานที่เกิดจากการอ่าน  การฟัง  และการถาม(ปุจฉา)จากผู้รู้/จากการอ่านเอกสารของผู้รู้ที่เขียนไว้  ดังนั้น ความสามารถในการอ่าน  คิดวิเคราะห์และเขียน  จึงสมารถแสดงออกได้ด้วยผลงาน   การเขียน  ซึ่งเป็นการเขียนที่เกิดจากการใช้ความคิดที่เป็นผลจากการอ่าน  การฟัง  และ      การถาม ที่ผ่านการฝึกฝนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง  จึงนับว่าความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์  และเขียน เป็นความสามารถของผู้มีปัญญาหรือความสามารถในการเป็นนักปราชญ์นั่นเอง

"ลูกไก่อย่างพวกเราจะมีหัวใจนักปราชญ์ได้ไหมคะ"

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเขียนตามรูปแบบในระดับประถมศึกษา

         การเขียนตามรูปแบบในระดับประถมศึกษา   มีจุดประสงค์ของการเขียนดังนี้ (กรมวิชาการ, ๒๕๔๔:๑๒๐-๑๒๒)
     
          ๑. เพื่อเล่าเรื่องบอกเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์ เช่นเล่าประวัติ  เล่าเหตุการณ์  เล่าประสบการณ์ชีวิต  เล่าเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์  บันทึกเหตุการณ์  บันทึกประจำวัน
          ๒. เพื่อแสดงความคิดเห็นและแนะนำ เช่นแสดงแนวคิดจากการอ่าน  แสดงอารมณ์และความรู้สึก  แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและเชิงสร้างสรรค์  แสดงความคิดเห็นประกอบเหตุผล  แนะนำตนเอง  แนะนำบุคคล  แนะนำสถานที่
           ๓. เพื่ออธิบายให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ  เช่น อธิบายเรื่องธรรมชาติ  อธิบายเหตุผล  อธิบายการแสดงหรือพฤติกรรมของบุคคล  อธิบายวิธีการ/  การปฏิบัติ  อธิบายวิธีการทำตามขั้นตอน
          ๔.  เพื่อจดบันทึกการฟัง  การดูและการอ่านจากสื่อต่างๆ เช่น บันทึกความรู้  บันทึกการฟัง  บันทึกการอ่านหนังสือ
          ๕.  เพื่อการวิเคราะห์  เช่น  เขียนวิเคราะห์ข่าว  เขียนแสดงข้อเท็จจริง
          ๖.  เพื่อการวิจารณ์  เช่น  วิจารณ์ตัวละคร / บทละคร/บทความ  วิจารณ์เรื่องจากภาพ
          ๗.  เพื่อสร้างจินตนาการและความบันเทิง เช่น นิทาน  บรรยายภาพ   เรียงความเรื่ิองตามจินตนาการ    บทละคร    บทสนทนา
          ๘.  เพื่อการโฆษณา  ชักจูงใจ  เชิญชวน  และประกาศแจ้งความ  เช่นโฆษณาสินค้าโฆษณาหาเสียง บัตรอวยพร  บัตรเชิญในโอกาสต่างๆ     ประกาสของทางราชการ
          ๙.  เพื่อประโยชน์ในการเรียน เช่น เขียนสรุปความ  เขียนย่อความ  เขียนย่อเรื่อง  เขียนสรุปความจากการฟัง/การอ่าน
         ๑๐. เพื่อการใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น  จดหมาย  การกรอกแบบรายการต่างๆ

          การสอนเขียนระดับประถมศึกษาจะเน้นการเขียนตามรูปแบบ  ซึ่งเป็นการเขียนตามหลักเกณฑ์ของการเขียนแต่ละประเภท  ครูควรจัดประสบการณ์ในการเขียนที่เน้นกระบวนการเขียน (Writing  Process)  มากกว่าการสอนเขียนแบบเดิม  ซึ่งครูเป็นผู้กำหนดหัวเรื่องให้นักเรียนเขียนแล้วครูตรวจให้คะแนน


                     ในครั้งต่อไปจะชวนคิด...ชวนสร้างประสบการณ์เขียนแก่เด็กประถมด้วยกระบวนการเขียนค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย: การเรียนการสอนและการวัดประเมินผลที่เป็นกระบวนการเดียวกัน

          มีคำถามจากเพื่อนครูภาษาไทยว่า"เปิดเทอมปีการศึกษา๒๕๕๔นี้ ผู้บริหารให้ครูทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลให้เป็นกระบวนการเดียวกัน และเน้นการประเมินทั้งด้านความรู้  ความสามารถทักษะกระบวนการ คุณธรรมและค่านิยม" ครูจะเริ่มต้นในการทำแผนฯอย่างไร
 
             การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลตามแนวทางของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช ๒๕๕๑ เน้นการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง  โดยมีตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระ  ในแต่ละระดับชั้น  เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษา  หน่วยงานระดับท้องถิ่นและสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำไปใช้เป็นกรอบและทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอน  และนำไปสู่การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้
            แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  หมายถึง  การออกแบบแผนการสอนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้  ในเบื้องต้นครูผู้สอนต้องวิเคราะห์หลักสูตร  ได้แก่ การศึกษาจุดมุ่งหมายของหลักสูตร  การศึกษาองค์ประกอบและโครงสร้างหลักสูตรสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  การศึกษาการนำภาษาไทยบูรณาการวิชาอื่น  การกำหนดเกณฑ์การวัดและประเมินผลการเรียน/ประเมินพฤติกรรมผู้เรียน  และวิเคราะห์ว่าหน่วยการเรียนรู้นั้นสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้ ใดบ้าง  
          
          การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้มีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้
          ๑. เลือกรูปแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมมาใช้
          ๒. กำหนดชื่อแผนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้แกนกลางและเนื้อหาสาระที่ใช้จัดการเรียนการสอนในส่วนนั้น
          ๓. กำหนดคาบ/เวลาเรียน
          ๔. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยวิเคราะห์จากตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง จุดประสงค์การเรียนรู้ของแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้  จะต้องสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้ที่วิเคราะห์ไว้
           
                                               ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ภาษาไทย

             ๔.๑ ด้านความรู้( ความรู้  ความเข้าใจ การนำไปใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์  การประเมินค่า)
                      บอก   ระบุ   เล่า   ตอบคำถาม   บรรยาย  อภิปราย   ชี้แจง   ชี้บ่ง   บอกความหมาย
                      แยกประเภท   แยกกลุ่ม   จับคู่   จัดกลุ่ม   ยกตัวอย่าง   ตั้งคำถาม   บอกความสัมพันธ์
                      ขยายความ   ทบทวน   เปรียบเทียบ   แสดงความคิดเห็น   บอกเหตุผล   แยกแยะ
                      จำแนก  บอกเงื่อนไข  อ้างอิง  ให้คะแนน    ตัดสิน....ได้ถูกต้อง  วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ
            
               ๔.๒ ด้านความสามารถ/ทักษะกระบวนการ 
                      ฟัง...   พูด...   อ่าน...   เขียน...   ฟังและโต้ตอบ    แสดงท่าทาง/กิริยาภาษาท่าทาง
                      วาดภาพ   ผลิต...  ดำเนินการ...   เลียนแบบ   วางแผน   กำหนดขั้นตอน  ตกแต่ง
                      สร้าง....    รายงาน   แก้ไข/ปรับปรุง   ปรับเปลี่ยน /ดัดแปลง....ได้สวยงาม/แคล่วคล่อง
                      ประมวลความรู้   รวบรวมปัญหา   พัฒนารูปแบบ   ใช้แหล่งเรียนรู้   ค้นคว้า   นำเสนอ
                      จัดระบบ  เลือกใช้เทคนิค   ยกร่าง   ทดลองเขียน   วางกรอบแนวคิด   สัมภาษณ์
                      แสดงบุคลิกภาพ   เผยแพร่   แลกเปลี่ยน   บรรณาธิการ   คาดคะเน   ปฏิบัติตาม
                      กำหนดแนวทางวิธีการและพัฒนา
              
               ๔.๓ ด้านคุณธรรม ค่านิยม / เจตคติ/ คุณลักษณะ
                       สนใจ   ตั้งใจ   ใฝ่รู้  แสวงหา  พอใจ   ชื่นชม    ยินดี   สนับสนุน   อาสา
                       ต้องการปฏิบัติ    ช่วยเหลือ   ร่วมมือ  ตกลงใจ  ตัดสินใจ  เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย
                       เสนอแนะ  เลือกปฏิบัติ  ยอมรับ  มีความสำนึก  มีนิสัยรักการอ่าน  ภูมิใจ
                       รักศรัทธา   ตระหนัก  รณรงค์  เสริมสร้าง  มีส่วนร่วม 
                         
          ๕. นำกระบวนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนการจัดการเรียนรู้  มาจัดขั้นตอนการเรียนการสอนให้ชัดเจนสำหรับการปฏิบัติ  พร้อมจัดหา/จัดทำสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกัน
          ๖. กำหนดสิ่งที่จะวัดตามจุดประสงค์ให้ชัดเจน   กำหนดวิธีการ  เครื่องมือ  และเกณฑ์  พร้อมทั้งจัดสร้าง/จัดหาเครื่องมือและเกณฑ์ที่ต้องใช้ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ให้สมบูรณ์พร้อมที่จะนำไปใช้
         
          การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการจัดทำแผนการจัด   การเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้เรียน 
       
          การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Learning)  โดยมีการกำหนดภาระงาน ( Task ) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองและนำความรู้ที่สร้างขึ้นมาใช้สร้างงานหรือภาระงาน  โดยการแสดงออกถึงความสามารถของตน  ทั้งนี้ภาระงานและองค์ความรู้ต้องเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร  มาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้   ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง และผลการเรียนรู้  ความสามารถดังกล่าวจะถูกประเมินด้วยผู้เรียน  ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย  และเกณฑ์การประเมินที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งการออกแบบการเรียนรู้  การจัดทำแผนการเรียนรู้  การวัดและประเมินผลจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ที่มีแนวคิดการสร้างองค์ความรู้ (Constructivism) อันสอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๕
        ขอให้ครูภาษาไทยทุกท่านมีความสุข  สนุกกับการทำงานค่ะ  
                                                              

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเขียนตามรูปแบบ

                มาตรฐานการเรียนรู้ของสาระการเขียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กล่าวถึงคำสำคัญหลายคำที่ครูผู้สอนทุกระดับชั้นต้องตระหนักในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียน ได้แก่  กระบวนการเขียน  การเขียนตามรูปแบบ  การใช้แผนภาพในการพัฒนาการเขียน  

วันนี้ขอชวนอ่านและทำความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับ การเขียนตามรูปแบบ   เพื่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้า  และคิดแนวทางการจัดกิจกรรม  สำหรับเพื่อนครู  เพื่อนศึกษานิเทศก์ และผู้ที่สนใจ
         
             
รูปแบบการเขียน ( Forms of Writing ) หมายถึง ประเภทของงานเขียนที่แบ่งออกตามจุดประสงค์ของการเขียน ในภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า form , type, mode หรือdomain  ( Stecle 2007: Online, Answer Corporation 2010: Online )
         
    Houghton  Mifflin Harcourt ( 2006 : Online ) แบ่งรูปแบบการเขียน ( Form ) เป็น 5 รูปแบบ ดังนี้
         
     1. การเขียนเล่าเรื่อง ( Narrative ) เป็นข้อเขียนที่เล่าเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริงหรือแต่งขึ้นประกอบด้วย
                  1.1  เรื่องชีวประวัติ ( ฺBiographical  narrative )
                  1.2  เรื่องบันเทิงคดี ( Fictional  narrative )
                  1.3  เรื่องส่วนบุคคล ( Personal  narrative )
     
     2.  การเขียนอธิบาย ( Expository ) เป็นข้อเขียนที่อธิบายหรือบอกสารสนเทศ  ประกอบด้วย
                  2.1  ความเรียงเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง(Compare-contrast essay )
                  2.2  ความเรียงวิธีการ ( How- to  essay )
                  2.3  ความเรียงที่เป็นสารสนเทศ ( Information  essay )
           
    3.  การเขียนโน้มน้าว ( Persuasive ) เป็นข้อเขียนที่เสนอความคิดเห็นของผู้เขียน และพยายามโน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นด้วย  ประกอบด้วย
                  3.1  ความเรียงที่เป็นข้อคิดเห็น ( Opinion  essay  )
                  3.2  ความเรียงที่กล่าวถึงปัญหาและการแก้ไข ( Problem- solution )
                  3.3  ความเรียงที่กล่าวถึงการสนับสนุนและการคัดค้าน ( Pro-con essay )
           
     4.  การเขียนบรรยาย ( Descriptive) เป็นข้อเขียนที่มีจุดประสงค์ที่จะบรรยายถึง บุคคล  สถานที่  หรือเหตุการณ์  จนผู้อ่านมีภาพของสิ่งที่บรรยายนั้นอยู่ในใจ
           
     5.  การวิเคราะห์วิจารณ์งานเขียน ( Response  to  literature ) เป็นข้อเขียนที่กล่าวถึงการสำรวจ  ตรวจสอบ  เกี่ยวกับแก่นของเรื่อง ( theme ) โครงเรื่อง ( plot ) ตัวละคร และด้านอื่นๆของบทในหนังสือ หนังสือทั้งเล่ม  หรือเรื่องที่อ่าน  ประกอบด้วย
              5.1  การบรรยายสั้นๆเกี่ยวกับตัวละคร ( Character  sketch )
              5.2  การสรุปโครงเรื่อง ( Plot  summary )
              5.3  การวิเคราะห์แก่นของเรื่อง ( Theme  analysis )
               
             ในส่วนที่เสนอนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง เป็นการสรุปประเด็นสำคัญสั้นๆ หากต้องการรายละเอียดต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกนะคะ    การอธิบายรายละเอียดของรูปแบบการเขียน นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้างในการกล่าวถึงรูปแบบการเขียนที่เป็นรูปแบบหลักและรูปแบบย่อย ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไป




                 
ขอเชิญชวนเพื่อนครู  เพื่อนศึกษานิเทศก์  ผู้ที่สนใจในการจัดการเรียนสอนภาษาไทยร่วมแบ่งปันความคิดในการพัฒนาความสามารถในการเขียนแก่เด็กไทย

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรียนรู้อะไรในภาษาไทย

                 ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุระการงานและการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุข  และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้  ประสบการณ์  จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ  เพื่อพัฒนาความรู้  กระบวนการคิดวิเคราะห์  วิจารณ์และสร้างสรรค์ตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  ภาษายังเป็นสื่อที่แสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม  ประเพณี  สุนทรียภาพ        ทั้งเป็นสมบัติลำ้ค่าควรแก่การเรียนรู้    อนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทย  (กระทรวงศึกษาธิการ,  2551:1)

          การสอนภาษาไทยไม่ได้มุงหวังเพียงเพื่อการอ่านออกเขียนได้เท่านั้น ยังต้องการให้ผู้เรียนสามารถ ใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วในทุกทักษะตามวัย ตามความสามารถของผู้เรียน  และต้องสอนให้ผู้เรียนเกิดนิสัยรักการอ่าน มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาและวรรณคดี  ทั้งในแง่ที่เป็นวัฒนธรรมประจำชาติและในแง่ที่ส่งเสริมความงามในชีวิต          
การพัฒนาทักษะทางภาษา หมายถึง การจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยกลวิธีต่างๆ  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาในการสื่อสาร และเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้อย่างคล่องแคล่วเหมาะสมกับวัย  ระดับชั้นและเต็มตามศักยภาพ
               
                เยาวชนไทยเรียนรู้อะไรในภาษาไทย
                กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน   พุทธศักราช  2551กล่าวถึง เีรียนรู้อะไรในภาษาไทย เพื่อให้ครูภาษาไทยถอดรหัสนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้หรือวิธีการเรียนรู้แก่ลูกศิษย์ต่อไป โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้  (กระทรวงศึกษาธิการ,2551 : 1-2)

                1. การอ่าน การอ่านออกเสียง  ประโยค การอ่านบทร้อยแก้ว  คำประพันธ์ต่างๆ  การอ่านในใจเพื่อสร้างความเข้าใจ และการคิดวิเคราะห์  สังเคราะห์ความรู้จากสิ่งที่อ่าน เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิต
ประจำวัน (โดยใช้กระบวนการอ่าน  และสร้างนิสัยรักการอ่านแก่ผู้เรียน)
                 2. การเขียน  การเขียนสะกดคำตามอักขรวิธี  การเขียนสื่อสารรูปแบบต่างๆ เช่น การเขียนเรียงความ  ย่อความ  เขียนรายงานจากการศึกษาค้นคว้า เขียนตามจินตนาการ  เขียนวิเคราะห์ วิจารณ์ เขียนเชิงสร้างสรรค์(โดยใช้กระบวนการเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
                 3. การฟัง  การดู และการพูด  การฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ  การพูดแสดงความคิดเห็น  ความรู้สึก  พูดลำดับเรื่องราวต่างๆอย่างเป็นเหตูเป็นผล  การพูดในโอกาสต่างๆทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการและพูดเพื่อโน้มน้าวใจ 
                 4. หลักการใช้ภาษา  ศึกษาธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของภาษาไทย  การใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมกับโอกาสและบุคคล  การแต่งบทประพันธ์ประเภทต่างๆและอิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย ( โดยมีความภูมิใจในภูมิปัญญาทางภาษา  และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ)
                 5. วรรณคดีและวรรณกรรม  วิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อศึกษาข้อมูล  แนวคิด  คุณค่าของงานประพันธ์  และเพื่อความเพลิดเพลิน  การเรียนรู้และทำความเข้าใจบทเห่ บทร้องเล่นของเด็ก  เพลงพื้นบ้านที่เป็นภูมิปัญญาที่มีคุณค่าของไทย  ซึ่งได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด  ค่านิยม  ขนบธรรมเนียมประเพณี  เรื่องราวของสังคมในอดีต  และความงามทางภาษา  เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและภูมิใจในบรรพบุนุษที่ได้สั่งสมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน(โดยนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง)
                 
                  เนื่องจากทักษะภาษาเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้และสามารถฝึกฝนให้เกิดทักษะหรือความชำนาญคล่องแคล่วได้  เพียงแต่ครูผู้สอนพยายามแสวงหากลวิธี/วิธีฝึกทักษะทางภาษาให้เหมาะสมกับผู้เรียน  โดยมีข้อควรคำนึงดังนี้


         *  ฝึกการใช้ภาษาโดยการฝึกปฏิบัติจริง
                
        *  ใช้เวลาในการฝึกที่พอเหมาะและต่อเนื่อง
                 
        *  ฝึกโดยใช้กิจกรรมที่หลากหลายที่สัมพันธ์กับพื้นฐานประสบการณ์ของผู้เรียนโดยลำดับจากง่ายไปหายาก
                 
        *  สาระการเรียนรู้/เนื้อหาที่ใช้ในการฝึก  เป็นการถ่ายโยงการเรียนรู้ภาษา
                 
        *  การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียนด้วยวิธีการที่เหมาะสมโดยให้เด็กรู้จุดบกพร่องของตนกระตุ้นให้สนใจแก้ไข  และภูมิใจที่สามารถพัฒนาตนเองได้

เรารักกันนะ.......สามัคคีคือพลัง...จ้า

                                                                

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สร้างสังคมการเรียนรู้ภาษาไทย

             การสรรค์สร้างแนวทางการจัดเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อเพื่อนครู  ผู้เป็นแรงพลังพัฒนาเด็กไทย  ให้เป็นคนไทยยุคใหม่ที่มีรากทางภาษา และภูมิใจในความเป็นไทย  ทำได้ด้วยสมองและใจที่มุ่งมั่น     ที่สำคัญมีเครือข่ายเพื่อนร่วมทาง
 
ด้วยความรักและศรัทธาในความเป็นครูไทย