การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาความสามารถในการเขียน ตอนที่ 4

 
"วันนี้เราจะมาทบทวนหลักการที่จะช่วยให้การสอนเขียนมีผลดี"


                 Nationnal Concil of Teachers of English ( 2004 : Online ) เสนอหลักการที่จะช่วยให้ครูจัดการเรียนการสอนเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ครูผู้สอนควรมีความเชื่อมั่นในสิ่งต่อไปนี้


                 1. มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะการเขียน  การเขียนสามารถสอนได้และครูสามารถช่วยให้นักเรียนเป็นนักเขียนที่ดีได้  ครูควรออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่มุงให้นักเรียนได้เรียนกลวิธีการเขียนและได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยการนำแนวคิดทางทฤษฎีและผลการวิจัยมาสู่การปฏิบัติการ


                 2. บุคคลเรียนรู้ที่จะเขียนด้วยการเขียน  การจะเขียนได้ดีต้องเขียนมาก  ยิ่งเขียนมากก็เขียนง่ายขึ้นและมีแรงจูงใจมากขึ้น  นักเรียนจะเรียนรู้กระบวนการเขียนจากการมีประสบการณ์ภายในกระบวนการนั้นๆ นับตั้งแต่การร่างข้อเขียน  การคิดทบทวน  และการปรับปรุงแล้วร่างใหม่


                 3.การเขียนเป็นกระบวนการ  การพิจารณาการเขียนจึงไม่ใช่เพียงผลงานที่เขียนสำเร็จแล้ว  แต่ต้องพิจารณาถึงสิ่งที่ผู้เขียนได้กระทำเพื่อให้ได้ข้อเขียนนั้น  กระบวนการเขียนไม่มีสูตรตายตัว  เป็นขั้นตอนที่สามารถปฏิบัติกลับไปกลับมาได้  ในการสอนเขียนครูควรใส่ใจกับกระบวนการที่นักเรียนต้องใช้เพื่อสร้างข้อความ  นักเรียนควรได้ใช้กลวิธีที่หลากหลายในการเตรียมการเขียน  การพัฒนาและจัดระเบียบข้อมูล/ข่าวสาร  กลวิธีในการปรับปรุงแก้ไข  ครูเป็นผู้แนะนำแนวทางตามกระบวนการเขียน  รวมทั้งช่วยเหลือนักเรียนในขณะดำเนินการเขียน  โดยใช้สถานการณ์ของความร่วมมือกัน  นักเรียนจะเรียนรู้ที่จะเขียนได้อย่างดีร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ  การสอนเขียนควรให้โอกาสนักเรียนแสวงหากระบวนการที่ดีที่สุดสำหรับตัวนักเรียนเองจากการปฏิบัติ


                 4.การเขียนเป็นเครื่องมือสำหรับการคิด  การคิดในการเตรียมการก่อนเขียนและการคิดในขณะลงมือเขียน  ในประการหลังการคิดขณะลงมือเขียนผู้เขียนอาจเกิดความคิดในสิ่งที่ไม่ได้คิดก่อนลงมือเขียน ซึ่งคือการแก้ปัญหาและการทำความเข้าใจแง่คิดเดิม  เป็นการพิจารณาซ้ำในสิ่งที่ทำมาแล้วหรือคิดค้างอยู่  ในการสอนเขียนครูควรใช้การเขียนนี้เพื่อสร้างความคิด  เช่น เขียนเรื่องเล่าส่วนบุคคล บันทึกการคิดย้อนทบทวน การสังเกต เป็นต้น  การเขียนเพื่อการเรียนรู้ในวชาต่างๆจึงมีความสำคัญ


                5. การเขียนเกิดจากจุดประสงค์ที่ต่างกัน  การเขียนแตกต่างกันตามรูปแบบการเขียน โครงสร้างและกระบวนการ  ขึ้นกับจุดประสงค์ของการเขียนและผู้อ่าน  กระบวนการและวิธีคิดที่จะเขียนย่อมแตกต่างกัน  ในการสอนครูควรให้นักเรียนเรียนรู้ว่าการเขียนแต่ละรูปแบบแตกต่างกันอย่างไร  เพื่อจุดประสงค์และผู้อ่านแตกต่างกัน  ครูต้องให้โอกาสเด็กเขียนในสถานการณ์ต่างๆ


                6. การอ่านและการเขียนสัมพันธ์กัน  ผู้ที่อ่านมากย่อมเขียนได้ดีได้ง่ายกว่าผู้ที่อ่านน้อย  เพราะได้เรียนรู้รูปแบบของภาษาหลายรูปแบบ  ทำให้ได้แหล่งสารสนเทศและความคิด  การส่งเสริมให้โรงเรียนมีหนังสือที่เหมาะสมแก่นักเรียน และให้นักเรียนสนุกกับการอ่าน  จะทำให้นักเรียนอ่านเก่งและเขียนเก่งด้วย


         การเขียนและการคิดเกิดขึ้นอย่างผสมผสานกัน  การเขียนเปิดโอกาสให้ผุ้เขียนสำรวจความคิดและความคิดเห็นของตนเอง  แล้วทำให้ความคิดนั้นๆมองเห็นเป็นรูปธรรมได้  การคิดถือเป็นพื้นฐานของการเขียน  และเนื่องจากการคิดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  นักเรียนที่สามารถทำให้กระบวนการคิดของตนเป็นรูปธรรมโดยการเขียนได้ จะเป็นการส่งเสริมสมรรถภาพการเรียนรู้ของเขาด้วย  ( Saskatchewan Education . 2010 : Online ) 




การเขียนส่งเสริมการคิดและการเรียนรู้  ด้วยเหตุผลดังนี้


              1. การเขียนกระตุ้นการสื่อสาร  การเขียนสร้างโอกาสให้เกิดการอภิปรายในกลุ่มหรือในกิจกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


              2. การเขียนมีจุดเน้นที่ความคิดและการขยายขอบเขตของความคิด  ผู้เขียนต้องคิดเพื่อตัดสินใจว่าจะกล่าวถึงอะไรและอย่างไร  เป็นการสำรวจความคิด  การจัดระเบียบความคิด  การเลือกใช้คำ  การเพิ่มเติมหรือการตัดทอนความคิด


              3. การเขียนทำให้มีการย้อนคิดทบทวนความคิดนั้น  เมื่อมีการเขียนความคิดเป็นตัวอักษร  ก็สามารถตรวจสอบ พิจารณา ทบทวน เพิ่มเติม จัดระเบียบ หรือเปลี่ยนแปลงได้


              4. การเขียนเป็นการใช้ประสาทสัมผัสหลายทาง  ทั้งการมองเห็น ได้ยิน ชิมรส ดมกลิ่นและสัมผัสสร้างสรรค์ให้เกิดความคิดและกลั่นกรองเป็นงานเขียน




         ในการจัดการเรียนการสอนการเรียนรู้ที่จะเขียนต้องอาศัยการสอนกระบวนการเขียน  การสอนในเชิงกระบวนการช่วยให้นักเรียนเรียนการเขียนตามวิธีการที่ผู้มีความสามารถในการเขียนใช้  คือ เลือกหัวข้อ/เรื่องของตนเอง เลือกรูปแบบการเขียน เขียนจากประสบการณ์และการสังเกตของตนเอง  โดยวิธีการนี้นักเรียนจะเป็นเจ้าของในการเรียนรู้และต้องรับผิดชอบมาก  โดยครูจะต้องสอนให้นักเรียนตระหนักในสิ่งต่อไปนี้


    1. การเขียนเป็นกระบวนการกลับไปกลับมา  ผู้เขียนดำเนินการเขียนตามขั้นตอนเท่าที่จำเป็น  เริ่มจากการเตรียนก่อนเขียน การร่างข้อเขียน แล้วอาจกลับไปที่ขั้นแรกอีก  แล้วข้ามไปขั้นปรับปรุง ก่อนที่จะแก้ไขและแลกเปลี่ยนผลงานต่อกัน  การปรับปรุงและการแก้ไขอาจรวมกันตามธรรมชาติ


     2. การประเมินผลควรประเมินทั้งกระบวนการและผลงานการเขียน  เป็นการเน้นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนมากกว่าผลงานอย่างเดียว


    3. องค์ประกอบหลักของกระบวนการเขียนของผู้เขียนแต่ละคนจะคล้ายกัน  แต่ละคนจะพัฒนากระบวนการเขียนเฉพาะของตน
     4. ความสามารภในการเขียนจะเกิดจากการฝึกบ่อยๆและสม่ำเสมอ
     5. การเขียนถือเป็นกิจกรรมเดี่ยว  แต่การรวมกลุ่มทางสังคมอาจจำเป็นสำหรับนักเรียนในการพัฒนาการเขียนของตนเอง


ในครั้งต่อไปจะเสนอเรื่อง "กระบวนการเขียน"ค่ะ

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาความสามารถในการเขียน ตอนที่ 3

        
              การเขียน  เป็นงานศิลปะในการสร้างคำและข้อความบนกระดาษ ไม้ หิน หรือวัสดุอื่นๆ  โดยมีจุดประสงค์ที่จะบันทึกความคิดที่แสดงความหมายออกมาจากคำ หรือข้อความนั้น หรือมุงสื่อสารไปยังผู้อื่นด้วยสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ ( Brainy Quote,2010 :Online )

             Wikipedia ( 2010 : Online ) อธิบายไว้ว่า การเขียนคือ ตัวแทนทางภาษาบนพื้นผิวของตัวกลาง โดยอาศัยชุดของสัญลักษณ์ซึ่งแตกต่างจากภาพวาดหรือการเขียนสีตามผนังถ้ำโบราณที่ไม่ใช้ภาษาและแตกต่างจากการบันทึกทางภาษาที่ไม่ใช่สัญลักษณ์

             โดยที่การเขียนเป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์ให้เข้าใจถึงความรู้  ความคิด และความรู้สึกระหว่างกัน  การเขียนจึงเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างสูง  Walker ( 2011 : Online ) มีความเห็นว่า  การเรียนรู้ที่จะเขียนเป็นขั้นสำคัญของพัฒนาการเด็ก  เป็นสิ่งที่จะปูทางไปสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้ในอนาคต  เพราะขณะที่เด็กเรียนรู้โลกรอบๆตัว และเริ่มเรียนรู้ที่จะแสดงออกตัวตนของเขาต่อสังคมด้วยการเขียน  ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยทำให้การเขียนก่อรูปเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการทางการศึกษา ซึ่งจะกระตุ้นเด็กไปตลอดด้วยการเป็นสิ่งเร้าทางสติปัญญาและความต้องการความรู้  ในอีกด้านหนึ่ง  การเขียนเป็นขั้นแรกที่สำคัญในการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ซึ่งสำคัญยิ่งในการศึกษา  เป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมและการคิดที่รวดเร็ว  การเขียนช่วยทำให้ช่องทางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาได้อย่างดียิ่ง

           คำแนะนำเกี่ยวกับการสอนเขียน

        Office of Educational Research and Improvement (2000 : Online) ให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการสอนเขียนแก่นักเรียนให้สามารถเขียนได้อย่างดีไว้ดังนี้

        1.  การคิดที่ชัดเจน  การเขียนเริ่มต้นด้วยการคิด  เพราะการคิดเป็นขั้นตอนสำคัญของการสื่อสาร  ในการเขียนแต่ละครั้งผู้เขียนไม่ควรมีข้อสงสัยในเรื่องที่จะเขียน  ผู้เขียนควรมีความแจ่มชัดเกี่ยวกับเรื่อง /เหตุการณ์ที่ผ่านมา  เพื่อที่จะเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆได้


               2.การมีเวลาที่เพียงพอ  เด็กจะต้องสะสมข้อมูลต่างๆไว้ในสมอง  และเด็กต้องการเวลาในการคิด  ดังนั้ยการเขียนเฉพาะในคาบเรียนในโรงเรียนจึงไม่เพียงพอ

               3.การได้อ่านหนังสือที่ดีๆ  ถ้าเด็กได้อ่านหนังสือที่ดี  เด็กจะเป็นนักเขียนที่ดีด้วย

               4.การได้รับมอบหมายภารกิจที่มีความหมาย  เด็กต้องการเขียนงานที่มีความหมาย  ไม่ใช่ทำไปเพียงเพื่อส่งงาน โดยไม่มีความหมายอย่างแท้จริง

                5. การเขียนตามความสนใจ  เด็กต้องการเขียนเพื่อส่งข่าวสาร  บันทึก  แสดงออกถึงความรู้สึกหรือการถ่ายทอดสารสนเทศ

               6. การฝึกหัด  ควรให้โอกาสเด็กในการฝึกการเขียนในหลายๆสถานการณ์

               7. การปรับปรุงงานเขียน  เด็กต้องการประสบการณ์ในการปรับปรุงงานเขียนของเขา  เช่น  ต้องการคำแนะนำว่ามีอะไรบ้างที่จะทำให้ข้อเขียนชัดเจน  หรืเขียนบรรยายได้ดีหรือรัดกุมมากขึ้น


เด็กจะก้าวหน้าและมีความสามารถในการเขียน.....
     ขอเพียงครูจัดเวลาและให้โอกาสเด็กในการเขียนอย่างมีความสุข
 

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาความสามารถในการเขียน ตอนที่ 2

การพัฒนาความสามารถในการเขียนแก่เด็กมีแนวทางอย่างไร..?



            ครูผู้สอนภาษาไทยมักตั้งคำถามดังกล่าวข้างต้น  เพื่อหาแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จะนำพาให้นักเรียนมีความสามารถในการเขียน

            การพัฒนาความสามารถในการเขียนของนักเรียน  มีหลักการ  แนวคิดและแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนที่นักวิชาการให้ความเห็นและข้อแนะนำดังนี้

            Unicef ( 1999 ) ให้คำแนะนำไว้ว่า  การสอนเขียนมีความสำคัญและเป็นงานยาก  การให้โอกาสนักเรียนได้เขียนบ่อยๆ  ให้โอกาสในการปรับปรุงและขัดเกลาข้อเขียนของเขา  เป็นการสร้างพื้นฐานของความสำเร็จในการเขียน  สิ่งสำคัญคือ ควรให้การเขียนมีความหมาย  นักเรียนควรได้แสดงออกในหัวเรื่องที่สำคัญสำหรับเขา  ซึ่งอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและเหตุการณ์ในชุมชน
 
ข้อแนะนำอื่นๆในการสอนการเขียนได้แก่
                         
            1. เชิญชวนให้นักเรียนเขียนอย่างอิสระ  โดยมีเป้าหมายหลักของการเขียนทุกระดับคือ การสื่อสารความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
      
            2. เชิญชวนให้นักเรียนเล่าเรื่องราวให้ผู้อื่นเขียนตาม  เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการพูดและการเขียน

            3. เชิญชวนให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับชีวิตและประสบการณ์ของเขา  เพราะเด็กจะเขียนได้ดีเมื่อเขาเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่เขารู้เรื่องดี

                 4. จัดกิจกรรมให้เด็กวัย 6-9 ปี เขียนเรื่องสั้นๆ เพราะด็กไม่อาจเขียนได้นาน การเขียนบ่อยๆ  แบ่งเป็นช่วงสั้นๆให้ผลดีกว่าการเขียนช่วงเวลานานๆ


                  5. ส่งเสริมให้นักเรียนเขียนบันทึกประจำวัน  เพราะเป็นการเขียนอิสระและไม่ได้เผยแพร่แก่ผู้อื่น  ถ้าครูต้องการทราบความก้าวหน้าในความสามารถในการเขียนก็สามารถบอกนักเรียนรู้ล่วงหน้า

                  6. ให้โอกาสนักเรียนในการแก้ไข ปรับปรุงผลงานเขียน เพราะการปรับปรุงข้อเขียนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเด็กที่เริ่มเขียน

                  7. ให้โอกาสเด็กในการเขียนตามความเข้าใจ  เช่น " การหาวิธีแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์"  "ภูมิอากาศที่มีผลต่อชีวิตครอบครัวของเด็ก"  เพื่อการเขียนจะได้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเรียน

                   8. ทำให้งานเขียนของนักเรียนมีความหมาย  โดยอาจพิมพ์เผยแพร่  จัดแสดงผลงานที่ผนังห้อง  การแลกเปลี่ยนผลงานเขียนร่วมกับนักเรียนชั้นอื่นๆหรือครอบครัว/ชุมชน  การเผยแพร่งานเขียนช่วยทำให้นักเรียนเขียนอย่างมีจุดประสงค์มากยิ่งขึ้น

             
   Hebert ( 2008 ) กล่าวถึงหลักการทั่วไปของการจัดการเรียนการสอนเขียนที่เป็นที่ยอมรับได้แก่

               1. ควรมีการเขียนในทุกวิชาตลอดหลักสูตร  เพราะจากการศึกษาพบว่าวิชาใดก็ตามที่มีการกำหนดให้มีการเขียนในวิชานั้น  นักเรียนจะมีผลการเรียนในวิชานั้นดีและมีความสามารถในการเขียนดีขึ้นเป็นผลที่เกิดขึ้นร่วมกัน

               2. ปรับบทเรียนการเขียนให้เหมาะสมกับชั้นหรือวิชา เช่น ในชั้นเด็กเล็กใช้กลวิธีให้หา "คำที่ใช้บ่อยเกินไป"  ในเด็กโตใช้กลวิธีให้ทำ "ขุมทรัพย์คำ" ที่ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

              3. อ่านให้เหมือนนักเขียน  นักเขียนมักมีอุบายในการเขียนที่ทำให้ผู้อ่านสนใจและเข้าใจได้ดี ซึ่งนักเรียนสามารถศึกษาได้จากการอ่านงานเขียนของนักเขียนที่เก่ง นักเรียนจะเรียนรู้ตัวแบบเกี่ยวกับโครงสร้างและการเรียบเรียง  รวมถึงการใช้คำและการเขียนประโยค

              4. สอนกระบวนการเขียน  ครูต้องสอนกระบวนการเขียนให้นักเรียนเข้าใจอย่างแท้จริงในแต่ละขั้นตอน  เพราะจะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเขียน  ทั้นี้ครูต้องเป็นตัวแบบทุกขั้นตอน

              5. ให้ข้อมูลย้อนกลับ  ทำให้การประชุมปรึกษาหารือของนักเรียนเป็นไปอย่างง่ายๆ  ครูควรให้ข้อมูลย้อนกลับเพียง 2 - 3 ประเด็น  เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องแก้ไขข้อบกพร่องผลงานเขียนทั้งหมด  จนเกิดความท้อถอยและครูควรบันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้เพื่อแนะนำการเขียนครั้งต่อไปของนักเรียน

              6. อธิบายโดยตรงแก่นักเรียนในเรื่องทักษะการเขียน เช่น การคัด  การสร้างประโยค  การสะกดคำ  และในเรื่องกลวิธีการเขียน เช่น การวางแผน  การจัดระเบียบความคิดและการปรับปรุงผลงาน  สิ่งต่างๆเหล่านี้ต่างเป็นองค์ประกอบของกระบวนการเขียน

             7. เตรียมนักเรียนสำหรับการเขียนตามข้อกำหนด  โดยเฉพาะในการประเมินผล  ครูต้องแบ่งเวลาเพื่อการนี้ด้วย  แม้จะไม่เป็นไปตามธรรมชาติเพราะเป็นการกำหนดให้เขียน  แต่ในชีวิตข้างหน้านักเรียนต้องเรียนในระดับวิทยาลัยหรือการทำรายงานในอาชีพการงาน  ล้วนเป็นการเขียนที่ถูกกำหนดหรือบังคับทั้งสิ้น
ในตอนต่อไปเนื้อหาจะเพิ่มประเด็นสำคัญ มากยิ่งขึ้นค่ะ

การพัฒนาความสามารถในการเขียน ตอนที่ 1

          การเขียน คือ พฤติกรรมหนึ่งของการสื่อสารของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกถึงประสบการณ์และความรู้ของผู้เขียน  เป็นการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด  ความต้องการและความในใจของตนเองไปสู่ผู้อื่น  โดยใช้ลายลักษณ์อักษรเป็นสื่อที่จะส่งสารอันมีความหมายไปยังผู้รับสาร ซึ่งต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ เช่น กลวิธีการนำเสนอ  การเลือกสรรถ้อยคำ  รูปแบบการเขียน  เป็นต้น


การเขียนสำคัญอย่างไร...ทำไมต้องพัฒนา

        Harrett (2006 ) มีความเห็นว่า  การเขียนมีความสำคัญที่มุ่งไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ (Spiritual Development ) ช่วยพัฒนาให้คนรับรู้ความจริงจากงานเขียนและร่วมสร้างสรรค์สังคม


                Chappell (2007) ให้เหตผลว่าการเขียนมีความสำคัญมากเพราะ

                1. การเขียนถือเป็นความสามารถพื้นฐานเบื้องต้นที่ใช้ในการตัดสินการทำงาน  การเรียนรู้
                2. การเขียนเป็นการแสดงตัวตนของผู้เขียน
                3. การเขียนเป็นสิ่งที่สัมผัสได้และคงทน ทำให้ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มองเห็นได้
                4. การเขียนช่วยให้ผู้เขียนใช้ข้อเท็จจริง  การอนุมานและความคิดเห็นได้ราบรื่นและไม่ทำให้ผู้อ่านสับสน
                5. การเขียนส่งเสริมความสามารถในการนำเสนอประเด็นความคิดที่มีคุณค่า
                6. การเขียนสนับสนุนความสามารถของผู้เขียนในการอธิบายความคิดที่สลับซับซ้อนแก่ตนเองและผู้อ่าน
                7. การเขียนช่วยให้ผู้อ่านให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เขียนได้
                8. การเขียนทำให้ผู้ที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้อื่นได้ขัดเกลาความคิดของตน
                9. การเขียนทำให้ผู้เขียนคาดคะเนความต้องการของผู้อ่าน  ความสามารถที่ทำได้เช่นนี้  แสดงถึงวุฒิภาวะและความยืดหยุ่นทางสติปัญญาของผู้เขียน
               10. การเขียนถึงความคิดของผู้เขียน เป็นการรักษาไว้ซึ่งความคิด  เพื่อกลับมาคิดทบทวนภายหลัง
                11. การเขียนความคิดออกมาจะเปิดโอกาสให้ผู้เขียนประเมินความเพียงพอของเหตุผลได้
                12. การเขียนทำให้ผู้เขียนขยายวงความคิดไปได้เหนือกว่าความคิดแรก
                13. การเขียนช่วยให้เข้าใจได้ว่า  ความจริงในสาขาวิชาการนั้นๆสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
                14. การเขียนก่อให้เกิดทักษะทางการสื่อสาร  และการคิดที่ต้องใช้เหตุผลในสังคมประชาธิปไตย
                15. การเขียนเป็นทักษะการทำงานที่สำคัญ

               ความสำคัญของการเขียนที่กล่าวข้างต้น  เป็นความคิดเห็นของนักวิชาการที่มีต่อการเขียนโดยทั่วไป  ในส่วนของความสำคัญของการเขียนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนของนักเรียน  มีผู้ให้ความเห็นหลายท่านดังนี้

Marmara Elt Resources ( 2009 ) กล่าวถึง
ความสำคัญของการเรียนรู้ที่จะเขียน
( Learning to writing ) ดังนี้

             1. การเรียนรู้ที่จะเขียนช่วยทำให้นักเรียนเป็นผู้อ่านที่เก่งขึ้น  เพราะการอ่านและการเขียนเป็นกระบวนการทางความคิดที่สัมพันธ์กัน

              2. การเรียนรู้ที่จะเขียน  ให้ผลดีช่วยให้นักเรียนพัฒนาในวิชาอื่นๆด้วย  เพราะการเขียนเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาต่างๆ ช่วยนักเรียนในการเรียนรู้วิชานั้น  ทั้งคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง  โครงสร้างของเรื่องที่สัมพันธ์เนื้อหา และการทำความกระจ่างในความคิด

             3. ผลงานเขียนของนักเรียนจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ครูใช้ในการประเมินว่านักเรียนเข้าใจในวิชานั้นๆหรือไม่


               4. การเรียนรู้ที่จะเขียน  ส่งเสริมพัฒนาการทางความคิด  เพราะการเขียนคำลงในกระดาษต้องอาศัยการตัดสินใจและการแก้ปัญหา  ผู้เขียนต้องตัดสินใจว่าข้อเท็จจริงหรือสารสนเทศใดที่มีความสำคัญที่ผู้อ่านควรรู้  ผู้เขียนต้องคัดสรรสารสนเทศโดยตลอด จากนั้นลำดับความสำคัญและสังเคราะห์เพื่อสร้างข้อความที่มีความหมาย  การเขียนจึงเป็นการให้โอกาสแก่นักเรียนในการฝึกฝนทักษะการคิดระดับสูง

           สิ่งสำคัญที่ครูควรตระหนักว่า  การใช้เวลาในการเรียนรู้ที่จะเขียน  จะทำให้มีนักเรียนที่อ่านเก่ง  คิดเก่ง  และเขียนเก่ง  อันเป็นสิ่งที่ครูภาษาไทยต้องการให้มีในเด็กไทยของเรา




           การเขียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคคลและสังคม  ในแง่ของบุุคคลการเขียนเป็นการสื่อสารถ่ายทอดความรู้  ความคิด  ความรู้สึกและการแสดงออกถึงตัวตนของผู้เขียนต่อผู้อื่น  มีผลให้บุคคลได้พัฒนาทางภาษา  ทางการเรียนรู้  การคิด  และการริเริ่มสร้างสรรค์ตลอดจนจิตวิญญาณ  การเขียนที่ดีช่วยทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง  และยังใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตและการทำงานอาชีพ  ในแง่สังคมเป็นการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม  สร้างสรรค์และพัฒนาในสาขาอาชีพต่างๆ  สร้างความเข้าใจระหว่างคนในสังคม  สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และความเคารพนับถือกัน  การเขียนสร้างสรรค์สังคมด้วยความคิดที่มีคุณค่า ด้วยเหตุนี้เด็กและเยาวชนไทยจึงควรได้รับการพัฒนาความสามารถในการเขียน  เพื่อปูทางไปสู่ความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน  ทำให้การเขียนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทางศึกษา 
โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่เป็น Best Practices

         การจัดกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  มีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งให้โรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับปฐมวัย  ประถมศึกษา  และมัธยมศึกษา  สร้างความตระหนัก  แรงจูงใจและกระตุ้นให้ครู  บรรณารักษ์  ผู้ที่เกี่นวข้องทุกระดับเห็นความสำคัญของการอ่าน  และมีส่วนร่วมในการสร้างนิสัยรักการอ่าน  เพื่อยกระดับความสามารถในการอ่านกับนักเรียน

           หลักสำคัญของการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  ในเบื้องต้นต้องมีความเชื่อมั่นว่า

        1.การอ่าน  เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้  การติดต่อสื่อสารและใช้ในการดำรงชีวิต
        2.การอ่าน  ถือเป็นทักษะพื้นฐานที่โรงเรียนต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก  โดยครูจะต้องเลือกสรรเทคนิคหรือวิธีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับกระบวนการอ่าน  เพื่อพัฒนาให้นักเรียนมีความสามารถในการอ่าน
       3.การอ่าน  เป็นงานของครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้  โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆ
       4.การอ่านและการเขียน เป็นเรื่องที่ครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต้องบูรณาการในการจัดการเรียนรู้
       5.การอ่าน   เป็นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อใช้การอ่านเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้

 
          จากการนิเทศติดตามและร่วมพัฒนาโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของโรงเรียนในสังกัด  สพท.กทม. 2 มีผลสำเร็จของงานที่เป็นการปฏิบัติงานที่ประสบผลสำเร็จ เป็น Best Practice หลายลักษณะดังนี้

         1.  เป็นผลงานที่เกิดจากการพัฒนาห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้

         2.  เป็นผลงานที่เป็นกิจกรรมเด่นที่ดำเนินการแล้ว นักเรียน ครู / บุคคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนเกิดการพัฒนานิสัยรักการอ่านและส่งเสริมความสามารถด้านการอ่าน

                  3. เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วทำให้บรรยากาศในโรงเรียนส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถในการอ่านแก่นักเรียนเพิ่มขึ้น

                  4.  เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ  สามารถนำไปเป็นตัวอย่าง  หรือแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนอื่นได้

                  5.  เป็นตัวอย่างการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์  ที่มียุทธวิธีและกระบวนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

                  6.  เป็นตัวอย่างการพัฒนาการจัดกิจกรรมให้ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือการพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบลห้องสมุดมีชีวิต

                  7.  เป็นตัวอย่างการบูรณาการการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ  เพื่อส่งเสริมให้ครูและนักเรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  ส่งผลให้เกิดนิสัยรักการอ่าน  และพัฒนาศักยภาพความสามารถในการอ่านแก่นักเรียน

                  8.  เป็นการสรุปรายงานหรือการเล่าถึงการทำงานของผู้บริหาร  ครูหรือกลุ่มครู   นักเรียน  โรงเรียนกับชุมชน  ที่ได้เรียนรู้วิธีการคิดหรือวิธีการทำงานใหม่  ที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการดำเนินงานในโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  การพัฒนาห้องสมุด  แหล่งเรียนรู้หรือกิจกรรมที่โรงเรียนสร้างสรรค์ใหม่ๆ  ที่มีผลการดำเนินงานพัฒนาผู้เรียนให้มีนิสัยรักการอ่าน  พัฒนาความสามารถด้านการอ่าน  มีผลสำเร็จเกิดความภาคภูมิใจ

                 9.  เป็นการสรุป / รายงาน / การเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกัลผู้บริหาร  ครู  นักเรียน  หรือผุ้ปกครอง/ชุมชน  อันเป็นผลมาจากการดำเนิงงานโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  การพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต  การพัฒนาแหล่งเรียนรู้  หรือโครงการที่โรงเีรียนสร้างสรรค์ ใหม่


WE  CAN


 

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาการด้านการเขียนของเด็กปฐมวัย

          Morrow(1998:241) กล่าวถึงลักษณะการเขียนและพัฒนาการเขียนของเด็กปฐมวัยดังนี้
              
      1. การเขียนโดยผ่านการวาดรูป ( Writing via drawing ) เด็กใช้การวาดรูปเป็นพื้นฐานของการเขียน ในขั้นนี้ทั้งการวาดรูปและการเขียนจะไม่สัมพันธ์กัน  เด็กจะมองว่าการวาดรูปและการเขียนเป็นการติดต่อสื่อสารโดยเฉพาะ


       2. การเขียนโดยผ่านการขีดๆเขียนๆ ( Writing via scribbing ) เด็กจะขีดๆเขียนๆจากซ้ายไปขวา  และเคลื่อนดินสอเหมือนผู้ใหญ่ทำ  และในขณะเขียนจะทำให้เกิดเสียง  การเขียนในขั้นนี้จะเริ่มคล้ายการเขียนจริง


       3. การเขียนโดยผ่านการทำตัวอักษรเหมือนแบบ ( Writing via letter-like form ) การเขียนในขั้นนี้หากมองผ่านๆจะเหมือนตัวอักษรจริง  แต่ดูใกล้ๆจะเห็นว่าเด็กเขียนไม่สมบูรณ์เหมือนตัวอักษรจริง เป็นการเขียนที่เด็กคิดออกแบบการเขียนของตนเองขึ้น
        4. การเขียนโดยผ่านการคัดลอกจากหนังสือ ( Writing via reproducing will learned units or letter strings ) เด็กจะเขียนคัดลอกตัวอักษรเป็นชื่อตัวเอง  ในขั้นนี้การเขียนของเด็กแต่ละคนจะแตกต่่างกัน เด็กบางคนอาจเขียนตัวอักษรยาวๆ หรือคิดออกแบบการเขียนของตัวเองขึ้น


         5. การเขียนโดยผ่านการคิดแบบตนเอง ( Writing via invented spelling ) เด็กส่วนใหญ่จะคิดแบบการเขียนของตนเองขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงความรู้สึกออกมา  โดยเด็กไม่รู้ว่าการเขียนคำๆหนึ่งสะกดจริงๆทำอย่างไร  ตัวอักษรเพียงตัวเดียวอาจเป็นตัวแทนพยางค์ของคำๆนั้นทั้งหมด หรือมีการเขียนคำเกินมาซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน   ในขั้นนี้เด็กบางคนจะทำท่าทางเขียนอย่่างรอบคอบเหมือนการเขียนจริง


        6. การเขียนโดยผ่านการสะกดตามแบบ ( Writing via conventional spelling ) ในขั้นนี้เด็กจะเขียนเหมือนผู้ใหญ่


        การเขียนของเด็กปฐมวัยเป็นวิธีการหนึ่งที่เด็กแสดงออก เป็นพัฒนาการทางภาษาที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับทักษะการฟัง การดู การพูด การเขียนจึงเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาความมีเหตุมีผลของเด็ก ครูควรแนะนำให้เด็กเขียนโดยใช้ความคิด ประสบการณ์ ความพอใจ และตามความสามารถทางภาษาของเด็กเอง  ความสามารถในการเขียนจะเป็นไปตามพัฒนาการของแต่ละวัย ในเด็กวัย 5-6ปี เด็กจะสามารถวาดรูปคนโดยมีส่วนสำคัญ 6 ส่วนได้  และวาดรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่มีมุมแหลมอยู่ในแนวตั้งได้  แสดงว่าเด็กพร้อมที่จะเขียนหนังสือได้  ทั้งนี้ครูจะต้องสังเกตว่าเด็กสามารถใช้มือหรือกล้ามเนื้อมือและตาทำงานสัมพันธ์กัน เด็กสามารถมองเห็นความเหมือน - ความแตกต่างของสิ่งต่างๆ และเด็กพร้อมที่จะเขียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่ถูกบังคับขู่เข็ญ จะส่งผลให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนหนังสือต่อไป