การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การใช้แผนภาพ ในการพัฒนางานเขียน ตอนที่ 1 : ความหมายและประโยชน์ของแผนภาพ

          ความหมายของแผนภาพ ( Graphic Organizers )
          แผนภาพ ( Graphic Organizers )  คือ การใช้แผนภาพแสดงเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริง คำ หรือความคิดในภารกิจแห่งการเรียนรู้ บางครั้งก็เรียกว่า แผนที่ความรู้ ( Knowledge maps )  แผนที่มโนทัศน์ ( Concept maps ) แผนที่เรื่อง ( Story maps ) แผนภาพความคิด ( Cognitive maps ) หรือแผนผัง   มโนทัศน์ ( Concept diagrams )( Hall and Strangman 2004 )  หรือในอีกความหมายหนึ่ง  แผนภาพคือวิธีการใช้ภาพสร้างองค์ความรู้และเรียบเรียงสารสนเทศ  ช่วยย่นย่อสารสนเทศที่มีอยู่มากมาย และดูประหนึ่งไม่สัมพันธ์กัน  ให้เป็นโครงสร้างที่อ่านง่าย  ทำให้สิ่งที่ซับซ้อนง่ายต่อการเข้าใจ ( Enchanted Learning 2010 )

              ประโยชน์ของแผนภาพ


         แผนภาพเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าต่อการเรียนการสอน  เพราะแผนภาพทำให้นักเรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหัวเรื่องที่เรียน  โดยการที่นักเรียนใช้แผนภาพในการแสดงลำดับความสำคัญของสารสนเทศ  จัดประเภทความคิด และมุ่งความสนใจไปยังความสัมพันธ์ระหว่างสารสนเทศกับความคิด  แผนภาพช่วยเรียบเรียงความคิดและมโนทัศน์เป็นภาพ  ทำให้สารสนเทศที่มีมากมายจากนามธรรมเป็นรูปธรรม ( Hartman 2002 ) แผนภาพช่วยใน     การจัดทำโครงสร้างงานเขียน   มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจในการอ่าน  เป็นเครื่องมือในการเรียนทุกวิชาและทุกระดับ    ใช้ในการตัดสินใจ  การวางแผนงานวิจัย  และการระดมสมอง ( Ross 2010 ; Wik Ed 2010 )

              แผนภาพสามารถใช้ได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียนการสอน  ครูและนักเรียนสามารถใช้แผนภาพได้ในลักษณะต่อไปนี้

             
                         ในด้านของครู...... ใช้แผนภาพได้ดังนี้
                                           
                1. แสดงและอธิบายข้อความ
                2. ใช้บันทึกกลวิธีการคิดในการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาต่างๆ
                3. ช่วยนักเรียนในการเรียบเรียงความคิดในการเขียน
                4. ช่วยนักเรียนวิเคราะห์  สังเคราะห์ สารสนเทศต่างๆ
                5. ช่วยนักเรียนเรียงความคิดก่อนการเขียน
                6. ช่วยครูเตรียมตนเองในการสอนสารสนเทศใหม่ๆ


                  ในด้านของนักเรียน..... ใช้แผนภาพดังนี้

      1. วางโครงสร้างในการจดบันทึกสารสนเทศที่สำคัญ
      2. ช่วยสร้างความคิด
      3. ช่วยนำทางการอ่าน
      4. เรียบเรียงความคิดในขั้นเตรียมการก่อนเขียนในกระบวนการเขียน
      5. ช่วยในการเลือกและวางลำดับโครงสร้างใหม่ และเก็บสารสนเทศไว้
                                    6. สร้างสรรค์แผนภาพที่จะช่วยให้เข้าใจและอธิบายได้
                                    7. เชื่อมโยงความคิดและมโนทัศน์ต่างๆ
                                    8. ช่วยเน้นความสนใจต่อสิ่งสำคัญที่สุด
                                    9. สรุปความจากสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ และเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับสิ่งที่รู้แล้ว

              แผนภาพใช้เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนที่ได้ผลดีในทุกระดับชั้นจนถึงระดับมหาวิทยาลัย  แต่ที่ใช้ได้ดีมากที่สุดคือระดับประถมศึกษา  ใช้ได้ผลดีทุกขั้นตอนของการเรียนการสอน  ทั้งก่อนและหลังการเรียนการสอน  แต่ถ้าใช้ในการอ่าน  ควรใช้หลังการอ่านจะทำให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ดีกว่า ( Hall and Strangman 2004 ) จากการวิจัยพบว่า ใช้ได้ดีในการอ่านและการเขียน และพบประสิทธิภาพของการใช้แผนภาพกับการเรียนการสอนภาษาทั้งการอ่านและการเขียน วิชาวิทยาศาสตร์  สังคมศึกษาและคณิตศาสตร์ ( Wik Ed 2010 )


ตอนต่อไปจะนำเสนอ"หลักการสำคัญในการสร้างแผนภาพ " นะครับ

การสอนคัดลายมือ

          การคัดลายมือเป็นทักษะการรับรู้ที่ซับซ้อน ขึ้นกับความเจริญเติบโตทางร่างกาย การรับรู้และเข้าใจผ่านประสาทสัมผัสและการสอนของครู  ปัญหาการเขียน/การคัดลายมือมักถูกมองข้าม และเข้าใจผิดว่าเด็กไม่อยากคัดลายมือเพราะขี้เกียจ  แท้จริงแล้วในทางตรงกันข้ามเด็กลังเลที่จะผลิตงานเขียนและเป็นสิ่งหนึ่งที่เด็กไม่ชอบทำที่โรงเรียน  เพราะถูกสั่งให้เขียนอย่างเรียบร้อย ในที่นี้จะขอเสนอความคิดและข้อสังเกตแก่ครูภาษาไทยเพื่อทบทวนความคิดและหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่การสอนคัดลายมือ ดังนี้

         การฝึกทักษะการคัดลายมือรวมถึงการฝึกทักษะการมอง  ในขณะที่เด็กคัดลายมือเด็กต้องใช้กล้ามเนื้อมือและการประสานสัมพันธ์การเคลื่อนไหวทางร่างการและความคิดในขณะคัดลายมือ
       
         การฝึกทักษะการมอง / สังเกตสิ่งต่างๆรอบตัว เช่น สิ่งของเครื่องใช้ในห้องเรียน  ธรรมชาติ  ภาพการ์ตูน หรือรูปร่าง-รูปทรงของผัก ผลไม้ จะช่วยให้เด็กรับรู้ทางสายตาในการแยกแยะระหว่างรูปร่าง รูปทรงต่างๆ แล้วตีความสิ่งที่มองเห็น เมื่อเด็กคุ้นเคยกับสิ่งต่างๆที่เป็นของจริงและรู้สิ่งต่างๆที่เป็นสัญลักษณ์แล้ว  เด็กจะตัดสินใจเลือกปฏิบัติการเขียนตามรูปร่าง/รูปทรงนั้นๆ และเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องคัดลายมือตัวอักษร

          ความสามารถในการจัดเก็บหน่วยความจำและการดึงข้อมูลจากการจำตัวอักษร และรูปแบบคำ มีความสัมพันธ์ต่อการคัดลายมือ เพราะการให้เด็กคัดลายมือคำหรือประโยคที่ยากและไม่มีความสัมพันธ์ต่อการใช้ของเด็ก จะทำให้การคัดลายมือไม่มีความหมายและไม่เสริมต่อการเรียนรู้คำ/การเรียนรู้ทางภาษา

          การสอนให้เด็กจับดินสอหรือปากกาอย่างสมดุล  จะช่วยให้เด็กใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางในการเคลื่อนไหวขณะเขียน ช่วยให้เขียนได้อย่างคล่องแคล่ว

         เด็กที่เกลียดการคัดลายมือ/การเขียน   บางส่วนเป็นเด็กที่มีปัญหาการรับรู้และมีปัญหาในการอ่าน      เด็กกลุ่มนี้จะมีความยากลำบากในการจำตัวอักษรและจดจำคำ  เด็กบางคนไม่สามารถแยกแยะด้วยสายตาว่าตัวอักษรที่เขาคัดนั้นคือตัวอะไร  ครูสามารถช่วยเด็กกลุ่มนี้โดย

         1. การใช้แถบอักษร ( ก-ฮ ) วางไว้ที่มุมโต๊ะ  ในขณะที่เด็กคัดลายมือหรือเขียน  จะได้มองเห็นลักษณะอักษรและจดจำตัวอักษรนั้นได้

         2. การเพิ่มหรือลดเวลาการคัดลายมือ  รวมทั้งจำนวนชุดคำที่เขียน โดยการมอบหมายให้เด็กคัดลายมือตามความสามารถและลำดับคำที่ง่ายไปยาก

       
3. การฝึกพูดและอ่านออกเสียงควบคู่กับการคัดลายมือ

4. การฝึกเขียนบนวัสดุต่างๆแทนกระดาษ เช่น กระดานดำ หรือการสำเนาตัวอักษรเฉพาะบางตัวที่เป็นปัญหาให้เด็กฝึกเป็นรายบุคคล โดยการเล่นเกมจับคู่อักษรหรือเกมทายพยัญชนะไทย

          5. การกวาดสายตาจากซ้ายไปขวา และจากบนลงล่าง  มีสำคัญในการฝึกคัดลายมือหรือการเขียนตของเด็ก เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของการอ่านและเขียนของภาษาไทย

          6. สำหรับเด็กระดับปฐมวัยหรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ครูหรือผู้ปกครองควรสนับสนุนให้เด็กใช้สีเทียนหรือดินสอสีในการเขียนรูปร่างต่างๆอย่างอิสระ  ก่อนจะเริ่มเขียนอักษร  รวมทั้งการเล่นกับตัวอักษรเพื่อให้คุ้นเคยและสามารถแยกแยะความเหมือนความต่างของตัวอักษรได้

           7. ควรใช้เส้นบรรทัด 5 เส้น หรือเส้นบรรทัดที่มีเส้นประในการฝึกคัดลายมือ โดยมีตัวอย่างการเขียนอักษรตามลำดับการเขียน  ให้เด็กได้ฝึกลากเส้นตามอย่างที่ถูกต้อง

           8. ครูหรือผู้ปกครองควรติดตามการฝึกคัดลายมือของเด็กว่ามีพัฒนาการอย่างไร เพื่อช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคล  รวมทั้งการที่เด็กถนัดมือขวา-ซ้ายต่างกัน ไม่ควรบังคับเด็ก

            9. การสื่อสาร พูดคุยกับเด็กใหเด็กรู้ความก้าวหน้าของตนเองจะสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้สึกประสบความสำเร็จ  และเห็นความสำคัญของการคัดลายมือ  หากเด็กสนใจอยากฝึกเพิ่มเติม ก็ควรหาชุดคำ เรื่องที่คัดสรรให้เด็กฝึกเพิ่มเติมที่โรงเรียนหรือบ้าน

              การคัดลายมือมีรูปแบบการเขียนหลายแบบ  เช่น

ตัวอักษรแบบ
กระทรวงศึกษาธิการ



ตัวอักษรแบบอาลักษณ์





พบกันในครั้งต่อไป
ในเรื่องการใช้แผนภาพในการพัฒนาการเขียนนะครับ