การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

การสอนเขียนในสหรัฐอเมริกา

           บทความนี้สรุปความมาจากบทความของ Wikipedia ( 2010 ) เรื่อง Teaching Writing in the United States ซึ่งกล่าวถึงประวัติของการสอนเขียนในสหรัฐอเมริกาที่ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ  จากแนวคิดในการสอนหลายประการ  ดังนี้

           ความเป็นมา
           
              การเขียนคือ วิธีการที่เราใช้ในการเก็บ/รวมความคิดที่สำคัญต่อเรา  นับตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณจนถึงปัจจุบัน  ในโรงเรียนเราใช้การเขียนไม่เฉพาะการบันทึกความคิดเท่านั้น  แต่ยังเป็นการใช้การเขียนเพื่อทำความกระจ่างในความคิดและสังเคราะห์ความคิดอีกด้วย  จากการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของโรงเรียน  ได้ค้นพบว่าการเขียนและผลสัมฤทธิ์ในวิชาต่างๆมีความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ  ถือเป็นหัวใจสำคัญของทางเลือกเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรที่ครูต้องเลือก


การสอนเขียนในระยะแรก
         
           การสอนเขียนในระยะแรกเน้นเฉพาะกฎเกณฑ์ทางภาษาเป็นสำคัญ  ได้แก่ การคัดลายมือ  ไวยกรณ์  การเขียนเว้นวรรคตอนและการสะกดคำ  การประเมินผลงานเขียนของนักเรียน  อยู่ที่ความแม่นยำในกฏเกณฑ์ทางภาษาและความถูกต้องของเนื้อหามากกว่ารูปแบบการเขียนและความคิดสร้างสรรค์  การเรียนการสอนเขียนจึงถูกกำหนดอยูในกรอบแคบๆ  จึงง่ายต่อการกำหนดทักษะที่ครูจะฝึกแก่นักเรียน

                                  การสอนกระบวนการเขียน 
                                  ( Writing process approach )
          
                 การวิจัยการสอนเขียนในยุค ค.ศ.1970 เริ่มหันมาเน้นกระบวนการแทนที่จะเน้นเพียงผลงานเขียน  การสอนกระบวนการเขียนมาจากความคิดที่ว่า  การเขียนเป็นงานที่สลับซับซ้อนและเป็นงานของแต่ละบุคคล  ที่สามารถอธิบายได้ด้วยขั้นต่างๆของการเขียนที่กลับไปกลับมาได้  ได้แก่ การเตรียมการก่อนเขียน การเขียน การแก้ไข และการปรับปรุง  ซึ่งสามารถจัดทำเป็นตัวแบบและนำมาสอนนักเรียนได้  ทั้งช่วยให้ครูวิเคราะห์ถึงปัญหาในการเขียนของนักเรียน การจัดการเรียนการสอนและการสนับสนุนนักเรียนให้เขียนได้อย่างเหมาะสม  แนวคิดเกี่ยวกับการสอนกระบวนการเขียนช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ว่านักเขียนจริงๆปฏิบัติงานอย่างไร  ช่วยให้ตัวแบบที่หลากหลายและให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อแก้ไขงานเขียน  นักเรียนจะได้รับการส่งเสริมให้เลือกหัวข้อเรื่องด้วยตนเอง ตั้งจุดประสงค์ในการเขียนเอง  และเป็นการเขียนที่มีผู้อ่านจริง  แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วสหรัฐอเมริกา


            การเขียนทุกวิชาทั้งหลักสูตร
            ( Writing across the curriculum )
                         
                       ในยุค ค.ศ. 1980 และ 1990 มีแนวคิดใหม่ในการสอนเขียนเกิดขึ้น  ด้วยครูตระหนักว่าการสอนเขียนให้ได้ผลดีนั้น  งานเขียนขึ้นกับจุดประสงค์และผู้อ่านที่เฉพาะเจาะจง  จึงจำเป็นที่ต้องมีการเขียนทั้งหลักสูตร  และมีความคิดว่าครูทุกคนต้องสอนเขียน  ไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของครูที่สอนภาษาเท่านั้น  แนวคิดนี้ลดการแบ่งแยกระหว่างภาษาและความรู้ในเนื้อหาวิชา  และเน้นการเชื่อมโยงระหว่างการเขียนกับการพัฒนาความคิด  นักเรียนจะได้รับการสอนให้เขียนรูปแบบที่หลากหลาย  มีจุดประสงค์การเขียนและสาขาวิชาเฉพาะเจาะจง  การเขียนทั้งหลักสูตรจะเน้นหลักสำคัญ 2 ประการคือ การเขียนเพื่อการเรียนรู้ ( Writing to learn ) ซึ่งเป็นการเขียนที่นำทางให้นักเรียนเข้าใจความคิดรวบยอดได้อย่างลึกซึ้ง  และการเขียนในสาขาวิชา  ซึ่งเป็นการสอนทักษะและกฎเกณฑ์ที่จำเป็นต่อการเขียนบรรยายในวิชานั้นๆ

               การเขียนเพื่อความเข้าใจ 
               ( Writing for understanding )


                    การเขียนเพื่อความเข้าใจเป็นแนวคิดในยุคศตวรรษที่ 21 โดยปรับมาจากหลักการของการออกแบบย้อนกลับ ( Backward design ) มาสู่การสอนนักเรียนให้เขียนได้อย่างมีประสิทธิผล  แนวคิดนี้เกิดจากการ     ตระหนัว่านักเรียนส่วนใหญ่ต้องการวิธีการสอนที่ชัดเจนทั้งความรู้และโครงสร้างที่เขาต้องนำไปใช้สร้างความหมายในการเขียน  การอธิบายและการให้ตัวแบบจึงเป็นหลักการสำคัญของการสอนเขียน  กล่าวโดยสรุปการสอนเขียนตามแนวคิดนี้มี หลักสำคัญ 3 ประการคือ การออกแบบย้อนกลับ  ความเข้าใจและการสอนทางตรง  นักเรียนจะได้รับรู้ถึงจุดเน้น  การเรียนการสอนที่เฉพาะเจาะจงและการฝึกปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้
                1.  พัฒนาความรู้ และความเข้าใจในสิ่งที่ช่วยในการพูดและการเขียนที่ชัดเจน
                2.  ระบุจุดเน้นที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการสังเคราะห์ความรู้และความเข้าใจ
                3.  เลือกโครงสร้างที่จะนำเสนอความรู้และความเข้าใจได้อย่างชัดเจน
                4.  ระมัดระวังเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางภาษา


   การสอนเขียนในค.ศ.2009 ถึงปัจจุบัน
  
                      คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการเขียนของสหรัฐอเมริกา  ได้เสนอความคิดที่ต้องการให้มีการสอนที่ทำให้นักเรียนทุกคนเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เขียนให้ชัดเจนและเขียนอย่างใช้ความคิด  ในปัจจุบันหลายองค์กรพยายามกำหนดมาตรฐานกลางในการสอนภาษาอังกฤษขึ้นใหม่  ซึ่งจะมีผลต่อหลักสูตรการสอนเขียนและการปฏิบัติในทศวรรษหน้า

           *** หมายเหตุ***  
                       
                          ผู้เรียบเรียงนำเสนอบทความนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า  ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าเจริญก้าวหน้าทมีพัฒนาการสอนเขียนอย่างเป็นขั้นตอน  และมีการเพิ่มมาตรฐานในการสอนมากขึ้นเป็นลำดับ  เพื่อให้ผู้อ่านได้ย้อนคิดทบทวนว่าการสอนเขียนของไทยได้ก้าวจากจุดใดไปยังจุดใดชัดเจนหรือไม่ ( ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีแนวทางเช่นเขา) เราได้ก้าวไปข้างหน้าบ้างหรือไม่
ออกกำลังทุกวัน  ร่างกายแข็งแรง  เพื่อคิดสร้างสรรค์สิ่งดีงามแก่เด็กไทยทุกคน 
 นะคะ

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

หลักการสำคัญในการสร้างแผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียน

          การสร้างแผนภาพหรือการออกแบบแผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียน เป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนจะต้องแนะนำผู้เรียนให้ใช้ความรู้ ความเข้าใจในโครงสร้างของรูปแบบการเขียนโดยใช้งานศิลปะมาช่วย  โดยการวาดภาพประกอบหรือคิดทำแผนภาพต่างๆให้น่าสนใจและมีความเหมาะสมกับจุดประสงค์ในการเขียนนั้นๆ  ครูผู้สอนต้องมีการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ในขั้นตอนการวางแผนงานเขียน  โดยเฉพาะในกระบวนการเขียนจะทำให้ผู้เรียนนำแผนภาพไปพัฒนางานเขียนได้ดียิ่งขึ้น

                 ขั้นตอนการสร้างแผนภาพ

           ๑. กำหนดชื่อเรื่องหรือข้อความหลักหรือความคิดรวบยอดซึ่งเป็นคำสำคัญของหัวเรื่องที่จะเขียน

           ๒. ระดมสมองเกี่ยวกับชื่อเรื่องหรือความคิดหลักหรือความคิดรวบยอด  ที่เกี่ยวกับคำสำคัญนั้นๆ แล้วจดบันทึกไว้

           ๓. นำคำ วลี หรือข้อความที่จดบันทึกมาจัดกลุ่มให้มีความสัมพันธ์กัน  จัดเป็นหัวข้อย่อยและเรียงลำดับกลุ่มคำ วลี หรือข้อความนั้นๆ

          ๔. นำคำ วลี หรือข้อความที่เป็นจุดเน้นให้ล้อมกรอบโดยรูปเรขาคณิต หรือวาดภาพประกอบให้เด่นชัดขึ้น
          ๕. ออกแบบแผนภาพโดยวางชื่อเรื่องวางไว้กลางหน้ากระดาษ  แล้ววางชื่อ กลุ่มคำ(หัวข้อย่อย) รอบชื่อเรื่อง  นำคำที่สนับสนุนวางรอบกลุ่มคำแรก  แล้วใช้เส้นโยงกลุ่มคำให้เห็นความสัมพันธ์  เส้นโยงอาจใช้สีหรือภาพ/ภาพลายเส้นประกอบกลุ่มคำ  เพื่อเป็นการอธิบายไปในตัว


                                                       วิธีการสอนการใช้เขียนแผนภาพ

          การสอนให้นักเรียนสามารถสร้างและใช้แผนภาพมีหลักการสำคัญดังนี้ ( Ellis and Howard 2007) 
          ๑. ครูอภิปรายกับนักเรียนถึงเรื่องแผนภาพว่าคืออะไร และใช้ประโยชน์อย่างไร
          ๒. ครูแสดงให้นักเรียนเห็นตัวอย่างของแผนภาพ และสิ่งที่ไม่ใช่แผนภาพ
          ๓. ครูใช้แผนภาพที่สมบูรณ์ในการสอน  หรือให้นักเรียนเติมแผนภาพให้สมบูรณ์ในขณะที่เรียน
          ๔. ครูให้นักเรียนเติมช่องว่างของแผนภาพ  โดยใช้เครื่องฉายที่ขยายแผนภาพบนจอ เพื่อเป็นการทำร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน
          ๕. ครูให้แผนภาพที่เกือบสมบูรณ์แก่นักเรียน โดยครูกับนักเรียนช่วยกันเติมแผนภาพให้สมบูรณ์ หรือครูให้นักเรียนทำเป็นกลุ่มและรายบุคคล
          ๖. ครูให้แผนภาพที่มีช่องว่าง  แล้วให้กลุ่มนักเรียนหรือนักเรียนเป็นรายบุคคลเติมแผนภาพให้สมบูรณ์
          ๗. ครูให้นักเรียนออกแบบและสร้างแผนภาพด้วยตนเอง  อาจทำเป็นกลุ่มเล็กหรือรายบุคคล
          ๘. ครูสอนบทเรียนสั้นๆ หรือประเด็นเรื่องต่างๆของกลุ่มสาระการเรียนรู้  แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มหรือรายบุคคลนำเสนอแผนภาพ  และอธิบายต่อหน้าชั้นเรียนให้ทราบว่าทำไมจึงเลือกแผนภาพนั้นในการวางแผนการเขียน

                การทำแผนภาพช่วยในการพัฒนางานเขียน  โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา
การใช้แผนภาพเป็นการวิเคราะห์หัวข้อเรื่องและหัวข้อย่อยออกมาเป็นภาพ  เพื่อนำไปสู่  การเขียนและการคิด  ทำให้เขียนเรื่องหรือสรุปเรื่องได้อย่างครบถ้วนและมีเหตุผล 

                เนื่องจากแผนภาพมีหลายรูปแบบ  ก่อนที่ครูจะให้นักเรียนเลือกใช้แผนภาพตามรูปแบบการเขียนใดๆ  ครูจะต้องศึกษาและให้นักเรียนรู้ว่าการเขียนรูปแบบใด/เนื้อหาหรือข้อมูลใดเหมาะสมกับแผนภาพใด  แล้วจึงนำแผนภาพตามลักษณะของโครงเรื่องนั้นไปใช้ในการพัฒนางานเขียนต่อไป

การเริ่มต้นสอนการใช้แผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียนสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา  เป็นการเริ่มต้นของการจัดระเบียบความคิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการเขียนตามรูปแบบ  ในหลักสูตรแกนกลางสาระการเรียนรู้ภาษาไทย