การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

หลักการสำคัญในการสร้างแผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียน

          การสร้างแผนภาพหรือการออกแบบแผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียน เป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนจะต้องแนะนำผู้เรียนให้ใช้ความรู้ ความเข้าใจในโครงสร้างของรูปแบบการเขียนโดยใช้งานศิลปะมาช่วย  โดยการวาดภาพประกอบหรือคิดทำแผนภาพต่างๆให้น่าสนใจและมีความเหมาะสมกับจุดประสงค์ในการเขียนนั้นๆ  ครูผู้สอนต้องมีการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ในขั้นตอนการวางแผนงานเขียน  โดยเฉพาะในกระบวนการเขียนจะทำให้ผู้เรียนนำแผนภาพไปพัฒนางานเขียนได้ดียิ่งขึ้น

                 ขั้นตอนการสร้างแผนภาพ

           ๑. กำหนดชื่อเรื่องหรือข้อความหลักหรือความคิดรวบยอดซึ่งเป็นคำสำคัญของหัวเรื่องที่จะเขียน

           ๒. ระดมสมองเกี่ยวกับชื่อเรื่องหรือความคิดหลักหรือความคิดรวบยอด  ที่เกี่ยวกับคำสำคัญนั้นๆ แล้วจดบันทึกไว้

           ๓. นำคำ วลี หรือข้อความที่จดบันทึกมาจัดกลุ่มให้มีความสัมพันธ์กัน  จัดเป็นหัวข้อย่อยและเรียงลำดับกลุ่มคำ วลี หรือข้อความนั้นๆ

          ๔. นำคำ วลี หรือข้อความที่เป็นจุดเน้นให้ล้อมกรอบโดยรูปเรขาคณิต หรือวาดภาพประกอบให้เด่นชัดขึ้น
          ๕. ออกแบบแผนภาพโดยวางชื่อเรื่องวางไว้กลางหน้ากระดาษ  แล้ววางชื่อ กลุ่มคำ(หัวข้อย่อย) รอบชื่อเรื่อง  นำคำที่สนับสนุนวางรอบกลุ่มคำแรก  แล้วใช้เส้นโยงกลุ่มคำให้เห็นความสัมพันธ์  เส้นโยงอาจใช้สีหรือภาพ/ภาพลายเส้นประกอบกลุ่มคำ  เพื่อเป็นการอธิบายไปในตัว


                                                       วิธีการสอนการใช้เขียนแผนภาพ

          การสอนให้นักเรียนสามารถสร้างและใช้แผนภาพมีหลักการสำคัญดังนี้ ( Ellis and Howard 2007) 
          ๑. ครูอภิปรายกับนักเรียนถึงเรื่องแผนภาพว่าคืออะไร และใช้ประโยชน์อย่างไร
          ๒. ครูแสดงให้นักเรียนเห็นตัวอย่างของแผนภาพ และสิ่งที่ไม่ใช่แผนภาพ
          ๓. ครูใช้แผนภาพที่สมบูรณ์ในการสอน  หรือให้นักเรียนเติมแผนภาพให้สมบูรณ์ในขณะที่เรียน
          ๔. ครูให้นักเรียนเติมช่องว่างของแผนภาพ  โดยใช้เครื่องฉายที่ขยายแผนภาพบนจอ เพื่อเป็นการทำร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน
          ๕. ครูให้แผนภาพที่เกือบสมบูรณ์แก่นักเรียน โดยครูกับนักเรียนช่วยกันเติมแผนภาพให้สมบูรณ์ หรือครูให้นักเรียนทำเป็นกลุ่มและรายบุคคล
          ๖. ครูให้แผนภาพที่มีช่องว่าง  แล้วให้กลุ่มนักเรียนหรือนักเรียนเป็นรายบุคคลเติมแผนภาพให้สมบูรณ์
          ๗. ครูให้นักเรียนออกแบบและสร้างแผนภาพด้วยตนเอง  อาจทำเป็นกลุ่มเล็กหรือรายบุคคล
          ๘. ครูสอนบทเรียนสั้นๆ หรือประเด็นเรื่องต่างๆของกลุ่มสาระการเรียนรู้  แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มหรือรายบุคคลนำเสนอแผนภาพ  และอธิบายต่อหน้าชั้นเรียนให้ทราบว่าทำไมจึงเลือกแผนภาพนั้นในการวางแผนการเขียน

                การทำแผนภาพช่วยในการพัฒนางานเขียน  โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา
การใช้แผนภาพเป็นการวิเคราะห์หัวข้อเรื่องและหัวข้อย่อยออกมาเป็นภาพ  เพื่อนำไปสู่  การเขียนและการคิด  ทำให้เขียนเรื่องหรือสรุปเรื่องได้อย่างครบถ้วนและมีเหตุผล 

                เนื่องจากแผนภาพมีหลายรูปแบบ  ก่อนที่ครูจะให้นักเรียนเลือกใช้แผนภาพตามรูปแบบการเขียนใดๆ  ครูจะต้องศึกษาและให้นักเรียนรู้ว่าการเขียนรูปแบบใด/เนื้อหาหรือข้อมูลใดเหมาะสมกับแผนภาพใด  แล้วจึงนำแผนภาพตามลักษณะของโครงเรื่องนั้นไปใช้ในการพัฒนางานเขียนต่อไป

การเริ่มต้นสอนการใช้แผนภาพเพื่อพัฒนางานเขียนสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา  เป็นการเริ่มต้นของการจัดระเบียบความคิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการเขียนตามรูปแบบ  ในหลักสูตรแกนกลางสาระการเรียนรู้ภาษาไทย