การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สวัสดีปีใหม่...๒๕๕๕





         ส.ค.ส. ๒๕๕๕...............สวัสดีปีใหม
                       คิดใหม่......คิดดี
                       ใจใหม่.......ใจดี
                      สติใหม่......สติดี
                      วันใหม่......วันดี
        ทุกๆวันของปี....เป็นวันที่คิดดีๆ
               เป็นวันที่มีใจดีๆ
              เป็นวันที่มีสติดีๆ
           เพราะทุกวันเป็นวันดี

           

           มังกรน้อมอำนวยพร
          
      สุขสโมสรเกษมศรี
          
      ให้ครูไทยทั่วปฐพี
           
      รักษ์สอนศิษย์เป็นคนดี  

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การใช้แผนภาพ ในการพัฒนางานเขียน ตอนที่ 1 : ความหมายและประโยชน์ของแผนภาพ

          ความหมายของแผนภาพ ( Graphic Organizers )
          แผนภาพ ( Graphic Organizers )  คือ การใช้แผนภาพแสดงเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริง คำ หรือความคิดในภารกิจแห่งการเรียนรู้ บางครั้งก็เรียกว่า แผนที่ความรู้ ( Knowledge maps )  แผนที่มโนทัศน์ ( Concept maps ) แผนที่เรื่อง ( Story maps ) แผนภาพความคิด ( Cognitive maps ) หรือแผนผัง   มโนทัศน์ ( Concept diagrams )( Hall and Strangman 2004 )  หรือในอีกความหมายหนึ่ง  แผนภาพคือวิธีการใช้ภาพสร้างองค์ความรู้และเรียบเรียงสารสนเทศ  ช่วยย่นย่อสารสนเทศที่มีอยู่มากมาย และดูประหนึ่งไม่สัมพันธ์กัน  ให้เป็นโครงสร้างที่อ่านง่าย  ทำให้สิ่งที่ซับซ้อนง่ายต่อการเข้าใจ ( Enchanted Learning 2010 )

              ประโยชน์ของแผนภาพ


         แผนภาพเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าต่อการเรียนการสอน  เพราะแผนภาพทำให้นักเรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหัวเรื่องที่เรียน  โดยการที่นักเรียนใช้แผนภาพในการแสดงลำดับความสำคัญของสารสนเทศ  จัดประเภทความคิด และมุ่งความสนใจไปยังความสัมพันธ์ระหว่างสารสนเทศกับความคิด  แผนภาพช่วยเรียบเรียงความคิดและมโนทัศน์เป็นภาพ  ทำให้สารสนเทศที่มีมากมายจากนามธรรมเป็นรูปธรรม ( Hartman 2002 ) แผนภาพช่วยใน     การจัดทำโครงสร้างงานเขียน   มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจในการอ่าน  เป็นเครื่องมือในการเรียนทุกวิชาและทุกระดับ    ใช้ในการตัดสินใจ  การวางแผนงานวิจัย  และการระดมสมอง ( Ross 2010 ; Wik Ed 2010 )

              แผนภาพสามารถใช้ได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียนการสอน  ครูและนักเรียนสามารถใช้แผนภาพได้ในลักษณะต่อไปนี้

             
                         ในด้านของครู...... ใช้แผนภาพได้ดังนี้
                                           
                1. แสดงและอธิบายข้อความ
                2. ใช้บันทึกกลวิธีการคิดในการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาต่างๆ
                3. ช่วยนักเรียนในการเรียบเรียงความคิดในการเขียน
                4. ช่วยนักเรียนวิเคราะห์  สังเคราะห์ สารสนเทศต่างๆ
                5. ช่วยนักเรียนเรียงความคิดก่อนการเขียน
                6. ช่วยครูเตรียมตนเองในการสอนสารสนเทศใหม่ๆ


                  ในด้านของนักเรียน..... ใช้แผนภาพดังนี้

      1. วางโครงสร้างในการจดบันทึกสารสนเทศที่สำคัญ
      2. ช่วยสร้างความคิด
      3. ช่วยนำทางการอ่าน
      4. เรียบเรียงความคิดในขั้นเตรียมการก่อนเขียนในกระบวนการเขียน
      5. ช่วยในการเลือกและวางลำดับโครงสร้างใหม่ และเก็บสารสนเทศไว้
                                    6. สร้างสรรค์แผนภาพที่จะช่วยให้เข้าใจและอธิบายได้
                                    7. เชื่อมโยงความคิดและมโนทัศน์ต่างๆ
                                    8. ช่วยเน้นความสนใจต่อสิ่งสำคัญที่สุด
                                    9. สรุปความจากสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ และเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับสิ่งที่รู้แล้ว

              แผนภาพใช้เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนที่ได้ผลดีในทุกระดับชั้นจนถึงระดับมหาวิทยาลัย  แต่ที่ใช้ได้ดีมากที่สุดคือระดับประถมศึกษา  ใช้ได้ผลดีทุกขั้นตอนของการเรียนการสอน  ทั้งก่อนและหลังการเรียนการสอน  แต่ถ้าใช้ในการอ่าน  ควรใช้หลังการอ่านจะทำให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ดีกว่า ( Hall and Strangman 2004 ) จากการวิจัยพบว่า ใช้ได้ดีในการอ่านและการเขียน และพบประสิทธิภาพของการใช้แผนภาพกับการเรียนการสอนภาษาทั้งการอ่านและการเขียน วิชาวิทยาศาสตร์  สังคมศึกษาและคณิตศาสตร์ ( Wik Ed 2010 )


ตอนต่อไปจะนำเสนอ"หลักการสำคัญในการสร้างแผนภาพ " นะครับ

การสอนคัดลายมือ

          การคัดลายมือเป็นทักษะการรับรู้ที่ซับซ้อน ขึ้นกับความเจริญเติบโตทางร่างกาย การรับรู้และเข้าใจผ่านประสาทสัมผัสและการสอนของครู  ปัญหาการเขียน/การคัดลายมือมักถูกมองข้าม และเข้าใจผิดว่าเด็กไม่อยากคัดลายมือเพราะขี้เกียจ  แท้จริงแล้วในทางตรงกันข้ามเด็กลังเลที่จะผลิตงานเขียนและเป็นสิ่งหนึ่งที่เด็กไม่ชอบทำที่โรงเรียน  เพราะถูกสั่งให้เขียนอย่างเรียบร้อย ในที่นี้จะขอเสนอความคิดและข้อสังเกตแก่ครูภาษาไทยเพื่อทบทวนความคิดและหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่การสอนคัดลายมือ ดังนี้

         การฝึกทักษะการคัดลายมือรวมถึงการฝึกทักษะการมอง  ในขณะที่เด็กคัดลายมือเด็กต้องใช้กล้ามเนื้อมือและการประสานสัมพันธ์การเคลื่อนไหวทางร่างการและความคิดในขณะคัดลายมือ
       
         การฝึกทักษะการมอง / สังเกตสิ่งต่างๆรอบตัว เช่น สิ่งของเครื่องใช้ในห้องเรียน  ธรรมชาติ  ภาพการ์ตูน หรือรูปร่าง-รูปทรงของผัก ผลไม้ จะช่วยให้เด็กรับรู้ทางสายตาในการแยกแยะระหว่างรูปร่าง รูปทรงต่างๆ แล้วตีความสิ่งที่มองเห็น เมื่อเด็กคุ้นเคยกับสิ่งต่างๆที่เป็นของจริงและรู้สิ่งต่างๆที่เป็นสัญลักษณ์แล้ว  เด็กจะตัดสินใจเลือกปฏิบัติการเขียนตามรูปร่าง/รูปทรงนั้นๆ และเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องคัดลายมือตัวอักษร

          ความสามารถในการจัดเก็บหน่วยความจำและการดึงข้อมูลจากการจำตัวอักษร และรูปแบบคำ มีความสัมพันธ์ต่อการคัดลายมือ เพราะการให้เด็กคัดลายมือคำหรือประโยคที่ยากและไม่มีความสัมพันธ์ต่อการใช้ของเด็ก จะทำให้การคัดลายมือไม่มีความหมายและไม่เสริมต่อการเรียนรู้คำ/การเรียนรู้ทางภาษา

          การสอนให้เด็กจับดินสอหรือปากกาอย่างสมดุล  จะช่วยให้เด็กใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางในการเคลื่อนไหวขณะเขียน ช่วยให้เขียนได้อย่างคล่องแคล่ว

         เด็กที่เกลียดการคัดลายมือ/การเขียน   บางส่วนเป็นเด็กที่มีปัญหาการรับรู้และมีปัญหาในการอ่าน      เด็กกลุ่มนี้จะมีความยากลำบากในการจำตัวอักษรและจดจำคำ  เด็กบางคนไม่สามารถแยกแยะด้วยสายตาว่าตัวอักษรที่เขาคัดนั้นคือตัวอะไร  ครูสามารถช่วยเด็กกลุ่มนี้โดย

         1. การใช้แถบอักษร ( ก-ฮ ) วางไว้ที่มุมโต๊ะ  ในขณะที่เด็กคัดลายมือหรือเขียน  จะได้มองเห็นลักษณะอักษรและจดจำตัวอักษรนั้นได้

         2. การเพิ่มหรือลดเวลาการคัดลายมือ  รวมทั้งจำนวนชุดคำที่เขียน โดยการมอบหมายให้เด็กคัดลายมือตามความสามารถและลำดับคำที่ง่ายไปยาก

       
3. การฝึกพูดและอ่านออกเสียงควบคู่กับการคัดลายมือ

4. การฝึกเขียนบนวัสดุต่างๆแทนกระดาษ เช่น กระดานดำ หรือการสำเนาตัวอักษรเฉพาะบางตัวที่เป็นปัญหาให้เด็กฝึกเป็นรายบุคคล โดยการเล่นเกมจับคู่อักษรหรือเกมทายพยัญชนะไทย

          5. การกวาดสายตาจากซ้ายไปขวา และจากบนลงล่าง  มีสำคัญในการฝึกคัดลายมือหรือการเขียนตของเด็ก เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของการอ่านและเขียนของภาษาไทย

          6. สำหรับเด็กระดับปฐมวัยหรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ครูหรือผู้ปกครองควรสนับสนุนให้เด็กใช้สีเทียนหรือดินสอสีในการเขียนรูปร่างต่างๆอย่างอิสระ  ก่อนจะเริ่มเขียนอักษร  รวมทั้งการเล่นกับตัวอักษรเพื่อให้คุ้นเคยและสามารถแยกแยะความเหมือนความต่างของตัวอักษรได้

           7. ควรใช้เส้นบรรทัด 5 เส้น หรือเส้นบรรทัดที่มีเส้นประในการฝึกคัดลายมือ โดยมีตัวอย่างการเขียนอักษรตามลำดับการเขียน  ให้เด็กได้ฝึกลากเส้นตามอย่างที่ถูกต้อง

           8. ครูหรือผู้ปกครองควรติดตามการฝึกคัดลายมือของเด็กว่ามีพัฒนาการอย่างไร เพื่อช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคล  รวมทั้งการที่เด็กถนัดมือขวา-ซ้ายต่างกัน ไม่ควรบังคับเด็ก

            9. การสื่อสาร พูดคุยกับเด็กใหเด็กรู้ความก้าวหน้าของตนเองจะสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้สึกประสบความสำเร็จ  และเห็นความสำคัญของการคัดลายมือ  หากเด็กสนใจอยากฝึกเพิ่มเติม ก็ควรหาชุดคำ เรื่องที่คัดสรรให้เด็กฝึกเพิ่มเติมที่โรงเรียนหรือบ้าน

              การคัดลายมือมีรูปแบบการเขียนหลายแบบ  เช่น

ตัวอักษรแบบ
กระทรวงศึกษาธิการ



ตัวอักษรแบบอาลักษณ์





พบกันในครั้งต่อไป
ในเรื่องการใช้แผนภาพในการพัฒนาการเขียนนะครับ






วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ครูที่มีความสามารถสูง

            เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว(ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2554) ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมประชุมปฏิบัติการการจัดการความรู้ ของสพฐ. ซึ่งจัดที่โรงแรมริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ ผู้ร่วมประชุมมีทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครูภาษาไทย ครูคณิตศาสตร์ และครูที่จัดกิจกรรมบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดการประชุมดังกล่าวผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการความรู้ผ่านกระบวนการเขียนเล่าประสบการณ์ การสนทนากลุ่มและการแลกเปลี่ยนกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติแล้วและมีผลการปฏิบัติดี  ที่สำคัญคือได้เรียนรู้วิธีการทำงานของเพื่อนครูภาษาไทยทั้ง 38 คน ในเวลา 4 วันเป็นวันที่มีความหมาย ทำให้ผู้เขียนทบทวนความคิดและประมวลความหมายของ "ครูที่มีคุณภาพ:ครูที่มีความสามารถสูง"จากการประชุมและจากความคิดของนักวิชาการ ดังนี้

           Steve Peha (2010) ให้มุมมองถึงลักษณะ7ประการที่ครูพึงปฏิบัติอยู่เสมอแล้วจะเป็นครูที่มีคุณภาพ/มีความสามารถสูง ซึ่งมีมุมมองแตกต่างจากสิ่งที่เราคุ้นเคย และมีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของครูภาษาไทย ที่ผู้เขียนได้พบในการประชุม  ดังนี้

        1.กระทำกับสิ่งที่มีอยู่ไม่ใช่กระทำกับสิ่งที่ขาดหายไป  โรงเรียนหรือครูมักจะวัดผลนักเรียนเพื่อที่จะพิจารณาจุดด้อย แล้วแยกนักเรียนออกไปอยู่กับกลุ่มด้อย จากนั้นก็พยายาม "เติมเต็มช่องว่าง"ของความสามารถของนักเรียน ด้วยการจัดการเรียนการสอนของครู ราวกับว่านักเรียนเป็นกระดานชนวนที่ว่างเปล่าสำหรับเขียน หรือเป็นภาชนะที่ว่างเปล่าสำหรับเติมเต็มสิ่งใดๆลงไป  แต่จากการวิจัยเกี่ยวกับสมองและสามัญสำนึกบอกให้เราทราบว่า นักเรียนเรียนได้ดีกว่าถ้าครูสอนจากพื้นฐานที่เขารู้อยู่แล้ว(สิ่งที่เขามีอยู่) ไม่ใช่สอนจากสิ่งที่เขาไม่รู้(สิ่งที่เขาไม่มี)
      2. จัดการวัดและประเมินผลเพื่อความเข้าใจตัวนักเรียน ไม่ใช่เพื่อการตัดสินดีหรือเลว ครูควรมีมุ่งหมายที่จะรู้จักนักเรียนอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ในฐานะมนุษย์โดยภาพรวมทั้งหมด มากกว่าที่จะคำนึงถึงเกรดหรือคะแนน 


     3. แสวงหาตัวแบบไม่ใช่แก้ไข  การแก้ไขนักเรียนโดยการให้คะแนนผลงานและการทดสอบ ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ แต่กลับสูญเสียเวลาและไม่ใช่หนทางที่ได้ประโยชน์ การแก้ไขเป็นการบอกถึงความผิด  ไม่ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ในจุดที่ต้องการ แต่นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากตัวแบบและแก้ไขด้วยตนเอง

     4. จัดหาเครื่องมือให้ไม่ใช่ให้กฎเกณฑ์  โดยมากการสอนเป็นการให้กฎเกณฑ์ ให้นักเรียนทำสิ่งนั้นไม่ทำสิ่งนี้ เป็นการเพิ่มกฎเกณฑ์ แต่ลดศักยภาพของนักเรียนในการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นความสามารถพื้นฐานที่เราหวังจะให้เด็กมีก่อนที่เขาจะจบการศึกษาไปจากโรงเรียน

     5. คำนึงถึงกระบวนการไม่ใช่ผลงาน นักเรียนไม่ว่าวัยใด ความสามารถระดับใด จะมีความก้าวหน้าได้ดีถ้าเราให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ มากกว่าคำแนะนำเกี่ยวกับผลงาน  การให้คุณค่าในเรื่อง "นักเรียนเรียนรู้อย่างไร" เพิ่มเติมจากเรื่อง "นักเรียนเรียนรู้อะไร" เป็นการคำนึงถึงนักเรียนแต่ละบุคคล และให้พื้นฐานแก่เขาสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต


     6. ควบคุมกิจกรรมไม่ใช่ควบคุมนักเรียน  นักเรียนต้องการโครงสร้างการเรียนการสอน โดยเฉพาะตอนเริ่มต้น  แต่โครงสร้างนั้นต้องไม่กำหนดว่านักเรียนต้องทำอะไรและทำอย่างไร เพราะนักเรียนต้องการทางเลือกในการเรียนรู้และการแก้ปัญหา ถ้านักเรียนไม่ได้เลือกจะทำให้เขาขาดความรู้สึกความเป็นเจ้าของ และถ้่าไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ จะทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจน้อยที่จะทำให้ดีที่สุด

     7. ยกย่องชมเชยความพยายามไม่ใช่ผลงาน  นักเรียนต้องการการยกย่องชมเชยจากครู ซึ่งจะทำให่เขาเต็มใจทำในสิ่งนั้น ครูจึงควรยกย่องชมเชยความพยายามแทนผลงาน เพราะนักเรียนทุกคนไม่ได้ประสบความสำเร็จในงานที่เขาพยายามทำ  โดยเฉพาะงานใหม่ๆ แต่ถ้าเมื่อใดที่นักเรียนมีความพยายามทำงานนั้นๆ เขาย่อมมีโอกาสเรียนรู้และปรับปรุงตนเอง

        ขอขอบคุณ อ.ดุจดาว เจ้าของโครงการ ครูภาษาไทยทั้ง 38 คนและศึกษานิเทศก์กัลยาณมิตรทั้ง 3 คน(ศน.ประไพพิศ  ศน.สิรี และ ศน.ชโลบล) ที่ร่วมถอดประสบการณ์การจัดการความรู้ของครูภาษาไทย ที่ทำให้เกิดบทความนี้ค่ะ







วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการจัดการเรียนการสอนเขียน : ตอนที่ 3



เพื่อนครูขอให้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ใช้สอนในขั้นเตรียมการก่อนเขียนเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางนำไปใช้กับนักเรียนระดับประถมศึกษา"งานสอนเหมือนพ่อครัวนะครับต้องเตรียมเครื่องปรุงให้พร้อม อาหารจะได้อร่อยครับ"

       ตัวอย่างกิจกรรม...... ในขั้นเตรียมการก่อนเขียน

กิจกรรมที่ 1 "คำชวนคิด พินิจสัมพันธ์"
        
        1. ครูจัดหาหนังสือ/วารสารจำนวน 3-4 ชุด โดยครูมีหนังสือเหล่านั้นอยู่ในมือ1ชุด เพื่อแสดงเป็นตัวแบบของกระบวนการร่วมกับนักเรียน 
         2. ให้นักเรียนเปิดหนังสือหน้าใดก็ได้(สุ่ม) แล้วจดบันทึกคำแรกที่พบเป็นคำที่ 1 แล้วปิดหนังสือ ทำแบบเดิมจนได้คำ 4 คำ  
         3. หลังจากได้คำครบแล้ว  ครูและนักเรียนจดรายการความคิดของตนเกี่ยวกับคำๆนั้น  รวมทั้งคิดถึงความสัมพันธ์ที่คำๆนั้นเกี่ยวเนื่องกัน  เมื่อทำครบ 4 คำ ครูและนักเรียนร่วมกันหาความสัมพันธ์ของคำทั้ง 4 คำ แล้ะจัดกลุ่มความคิด
         4. ครูและนักเรียนร่วมกันเขียนวลี  ประโยค  และความคิดที่แสดงความสัมพันธ์
        กิจกรรมนี้เป็นการอุนเครื่องให้นักเรียนได้มีโอกาสพิจารณาความคิดครั้งแรกๆเพื่อนำไปสู่การเขียนต่อไป
 


 กิจกรรมที่ 2 "เขาคือใคร..."
       
   1. ครูหรือนักเรียนหาภาพถ่ายหรือภาพบุคคลจากหนังสือต่างๆ(ภาพควรเป็นภาพบุคคลที่มีรายละเอียดที่บ่งบอกถึง รูปร่าง หน้าตา ขนาด สีหน้า การแต่งกาย และรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับบุคลิกภาพ/ลักษณะของตัวละคร)
   2. ให้นักเรียนตั้งคำถามและตอบคำถามถึงความคิดและปฏิกริยาต่อภาพ โดยใช้เวลาสั้นๆในแต่ละคำถาม นักเรียนพิจารณาภาพอย่างละเอียด และอาจใช้จินตนาการประกอบการคิด ดังตัวอย่างคำถาม
- ใครเป็นตัวเอกในภาพ
- เขาควรมีชื่อที่เหมาะสมว่าอะไร
- เขาอายุเท่าไร
- เขาแสดงอารมณ์อย่างไร( อธิบายเพิ่มเติม เช่น การแสดงสีหน้า ลักษณะท่าทาง ฯลฯ )
- เขาควรทำงาน/อาชีพ ชนิดไหน ( ให้เหตุผลประกอบ )
- เขากำลังคิด/พูดอะไร    อะไรทำให้นักเรียนคิดเช่นนั้น
- คุณลักษณะอื่นๆของตัวละครที่แสดงออกจากเครื่องแต่งกายและท่าทางมีอะไรบ้าง
- เหตุการณ์อะไรที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนภาพนี้อะไรจะเกิดต่อไปจากภาพนี้
- ตัวละครอื่นๆน่าจะมีความสัมพันธ์กับตัวละครเอกอย่างไร  อะไรทำให้นักเรียนคิดเช่นนั้น
- ตัวเอกมีทัศนคติต่อตัวละครอื่นอย่างไร และตัวละครอื่นมีทัศนคติต่อตัวเอกอย่างไร เหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับทัศนคติเหล่านั้น
     3. ให้นักเรียนเขียนบันทึกความคิดสั้นๆโดยเขียนเป็นคำหรือวลีและประโยคสั้นๆ 
        กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนมีโอกาสพัฒนาความคิดและนำไปใช้ในการหาหัวข้อเรื่องที่จะเขียนต่อไป 


กิจกรรมที่ 3 "เขียนๆๆๆๆลุยไม่รู้โรย"
    
       กิจกรรมนี้เป็นการเตรียมนักเรียนให้เขียนอย่างอิสระ  
        1. ครูอธิบายให้นักเรียนทราบว่ากิจกรรมต่อไปนี้จะให้เขียนความคิดอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นในทันทีที่ครูพูดว่า "เริ่ม" จนถึงพูดว่า "หยุด"
        2. ในขณะที่นักเรียนเขียนไม่มีการหยุด  ไม่มีการลบ  ไม่มีการแก้ไข  ให้เขียนอย่างต่อเนื่องต่อความคิดที่เกิดในขณะนั้น
        3. ครูให้นักเรียนจับคู่อ่านและแลกเปลี่ยนข้อเขียน
        4. นักเรียนจับกลุ่มตามความสมัครใจ อ่านข้อเขียนอิสระของตนให้กลุ่มฟัง  แล้วสมาชิกกลุ่มให้ข้อคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และเชิงบวก
         กิจกรรมนี้จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความกล้าที่จะเขียนโดยปราศจากกฏเกณฑ์ เพื่อให้มีความเชื่อมั่นว่าทุกคนคิดและเขียนได้อย่างอิสระ จะส่งผลต่อการเริ่มคิดที่จะเขียนในขั้นต่อๆไป
เพื่อน : กัลยาณมิตร ช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนาเด็กไทยให้กล้าคิด กล้าเขียน และเป็นคนดีของสังคมไทย - สังคมโลก



 

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการจัดการเรียนการสอนเขียน : ตอนที่ 2

     การริเริ่มการคิดและการได้มาซึ่งหัวข้อที่จะเขียน เป็นเรื่องสำคัญที่ครูควรจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่นักเรียนในขั้นเตรียมการก่อนเขียน(pre-writing)ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการเขียน  ข้อสำคัญคือนักเรียนควรได้สำรวจความคิดในการหาหัวข้อที่จะเขียน  โดยครูอาจใช้กลยุทธ์ดังต่อไปนี้
   - การระดมสมอง
   - การสร้างแผนภาพ
   - การสัมภาษณ์ผู้รู้ที่จะช่วยให้ได้หัวข้อเรื่อง
   - การร่วมอภิปรายหรือการประชุมหารือในกลุ่มเพื่อน
   - การประชุมกลุ่มที่มีครูเข้าร่วมให้คำปรึกษา
   - การฟังดนตรี
   - การอ่านและค้นคว้าหาชื่อเรื่อง
   - การเขียนอย่างเสรีเกี่ยวกับเรื่อง/ชื่อเรื่อง
   - การย้อนคิดทบทวนจากประสบการณ์
   - การตรวจสอบความคิดจากแบบอย่างการเขียนที่ดีๆ
   - การดูสื่อต่างๆ เช่น ภาพ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ฯลฯ
   - การอ่านและแสดงความรู้สึกที่มีต่อวรรณคดี
   - การเล่นบทบาทสมมุติ/ละคร
   - การใช้คำถาม 5Ws ( who,what,where,when,why )


       การระดมสมองเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ และอารมณ์ความรู้สึก  โดยการบอกชื่อบุคคลที่ต้องการบรรยาย  แล้วลองพูดบรรยายอย่างสั้นๆอย่างรวดเร็วให้เพื่อนฟัง หรือจดชื่อสถานที่ที่ได้ไปมา  แล้วเขียนเฉพาะคำที่จะใช้บรรยายในแต่ละที่ หรือจดรายการและบรรยายถึงความรู้สึกที่จดจำได้ และอธิบายถึงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น
           การพูดคุยโดยการจับคู่หรือกลุ่ม  โดยผลัดกันเล่าถึงบุคคล สิ่งของ เหตุการณ์ วัตถุที่น่าสนใจ ให้ผู้ฟังตั้งคำถามเพื่อเพิ่มความคิด บันทึกความคิดและชื่อเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างการอภิปราย
การชมงานศิลปะ ศึกษาภาพระบายสี ภาพถ่าย ภาพวาดหรืองานปั้นในวารสารหรือหนังสือทางศิลปะ หรืออาจไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์หรือที่แสดงนิทรรศการงานศิลปะ จดบันทึกรวมทั้งจดคำถามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับงานศิลปะ และจดเฉพาะหัวข้อเรื่องที่เกิดขึ้นในใจขณะการสังเกต เพื่อนำกลับมาสนทนาในกลุ่มโดยอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะนั้น


      การฟังดนตรี  การฟังดนตรีที่ชอบ/ที่ใหม่/ที่ไม่คุ้นเคย จากเทปหรือวิทยุ  โดยหลับตาแล้วให้เสียงเพลงช่วยสร้างภาพในใจ  จากนั้นจดบันทึกความคิดที่ได้แล้วนำมาพูดคุยถึงจินตนาการที่เกิดขึ้น
    การแสดงบทบาทสมมุติ โดยร่วมแสดงเป็นตัวละครต่างๆกับเพื่อนๆ เพื่อสร้างเหตุการณ์สมมุติขึ้น ว่าจะเกิดอะไรขึ้น    การสังเกตด้วยประสาทสัมผัส  โดยให้นักเรียนตระหนักว่ามันเกิดขึ้นรอบๆตัวเราทั้งในห้องเรียน ที่บ้าน ที่ร้านค้า และทุกๆที่ที่ไป ฟังการสนทนาของบุคคลที่พบ พิจารณารายละเอียดของกริยาท่าทางและการแต่งกาย สังเกตเพื่อให้ได้ข้อคิด ปัญหาหรือความสำเร็จในชุมชน จดบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ในทันทีเท่าที่จะทำได้
         การอ่าน ครูควรให้นักเรียนอ่านหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์หรือบทกวี แล้วบันทึกความคิดที่เกิดขึ้น รวมทั้งตั้งคำถามที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป ในเรื่องเกี่ยวกับ คำศัพท์ที่น่าสนใจ โครงเรื่อง ตัวละคร
        การค้นคว้าจากหนังสือพิมพ์  โดยให้นักเรียนอ่านเรื่องหรืดพาดหัวข่าวที่สนใจ แล้วจดความคิดเพื่อเขียนบทความหนังสือพิมพ์ หรือความคิดที่จะนำมาใช้ในการเขียนประเภทต่างๆ 
        การเชิญนักเขียนมาให้ข้อคิด  การที่นักเรียนได้ฟังนักเขียนมาพูดอภิปรายถึงผลงานและข้อคิดจากการเขียน  จะทำให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการเขียนได้มากขึ้น และเก็บเกี่ยวความคิดสำหรับการเขียนของตนเอง
        กิจกรรมทั้งหลายในขั้นเตรียมการก่อนเขียน(pre-writing)นี้เป็นหลักสำคัญสำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีประสบการณ์การเขียน  ซึ่งจะมีความยุ่งยากในการเข้าถึงความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ และความรู้ กิจกรรมต่างๆจะช่วยให้นักเรียนมีจุดเริ่มต้น  และตระหนักถึงแหล่งที่จะได้ความคิดในวันข้างหน้า  การมีจุดเริ่มต้นในการคิดและเขียนจะจูงใจในการพัฒนางานเขียนของนักเรียนในครั้งต่อๆไป

มาช่วยกันเติมเต็มการริเริ่มและการคิด  เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยคิดแล้วสามารถสื่อสารความคิดโดยการเขียน



วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการจัดการเรียนการสอนเขียน : ตอนที่ 1

ธรรมชาติของกระบวนการเขียน(The nature of writing process)การเขียนเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน ที่เปิดโอกาสให้ผู้เขียนสำรวจความคิด แล้วทำความคิดนั้นให้มองเห็นได้และเป็นรูปธรรม การเขียนกระตุ้นการคิดและการเรียนรู้ และนำความคิดมาทบทวนเพื่อเขียนความคิดเป็นลายลักษณ์อักษร ตรวจสอบความคิด พิจารณาความคิดใหม่หรือเพิ่มเติม จัดใหม่และเปลี่ยนแปลงได้  การเขียนจะกระตุ้นการคิดและการเรียนรู้ต่อเมื่อนักเรียนมองการคิดว่าเป็นกระบวนการ(Ghazi.2002:Online)
      ในอดีตมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนเขียนหลายวิธี เช่นการฝึกโดยให้เด็กเรียนรู้จากประโยคและย่อหน้าที่ถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ แล้วเปลี่ยนแปลงเป็นการฝึกให้เด็กก้าวไปสู่การเขียนที่ถูกต้องก่อนที่จะให้เขียนอย่างอิสระ ในปัจจุบันการสอนเขียนได้เปลี่ยนจุดเน้นจากผลผลิตของการเขียนมาเป็นกระบวนการเขียนผู้เขียนจะต้องถามตัวเองในลักษณะของคำถามต่อไปนี้
   -"ฉันจะเขียน(สิ่งนี้/เรื่องนี้)อย่างไร"
   -"ฉันจะเริ่มต้นเขียนอย่างไร" 

แนวทางที่นักเรียนถูกฝึกให้คิดในการที่จะเขียน ได้แก่ การคิดถึงจุดมุ่งหมายในการเขียน ผู้อ่านการร่างการเขียนหลายๆแบบ เพื่อนำเสนอผลงานการเขียนที่สามารถสื่อสารถึงความคิดของตน ครูผู้สอนที่ใช้แนวทางนี้จะให้เวลาแก่นักเรียนที่จะคิดและให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับ  เนื้อหาที่นักเรียนเขียนในร่างของ
เขา ด้วยวิธีนี้ทำให้กระบวนการเขียนเป็นกระบวนการของการค้นพบโดยตัวของนักเรียนเอง ค้นพบทั้งความคิดใหม่ๆ และรูปแบบของภาษาใหม่ๆที่แสดงออกถึงความคิดของตนเอง นอกจากนี้การเรียนรู้ที่จะเขียนในลักษณะนี้เป็นเสมือนกระบวนการของการพัฒนาการที่ช่วยให้นักเรียนเขียนได้เช่นเดียวกับที่นักเขียนมืออาชีพปฏิบัติ เพราะนักเรียนเป็นผู้เลือกชื่อเรื่อง อรรถลักษณ์ของภาษา(genre:เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์.2550 ใช้คำว่าอรรถลักษณ์ของภาษา ซึ่งเน้นความสำคัญของโครงสร้างการดำเนินเรื่องและลักษณะของภาษาที่แตกต่างกันไป เช่น เรื่องเล่าจากประสบการณ์ รายงาน )และเขียนจากประสบการณ์หรือจากการสังเกต

       แนวทางการสอนเขียนโดยใช้กระบวนการเขียนครูผู้สอนต้องให้นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ(ส่วนใหญ่)และเป็นเจ้าของทางการเรียนรู้ ในขณะเขียนนักเรียนจะอาศัยความร่วมมือจากเพื่อนนักเรียน ระหว่างการเขียนนักเรียนต้องปฏิบัติกิจกรรมในขั้นpre-writing , planning ,drafting editing ,publishing  แต่เนื่องจากกระบวนการเขียนมีลักษณะการคิดกลับไปกลับมาได้ นักเรียนอาจไม่ต้องทำกิจกรรมตามขั้นตอนดังกล่าวตามลำดับ 
             
                ตัวอย่าง กิจกรรมการเขียน

กิจกรรมที่1  การบรรยายภาพ ให้นักเรียนดูภาพแล้วบอกชื่อสิ่งของในภาพ จากนั้นให้นักเรียนเขียนข้อความบรรยายภาพ เช่น ภาพห้องเรียน ครูถามให้นักเรียนบอกสิ่งที่เห็นในภาพ แล้วให้เขียน(ย่อหน้าข้อความโดยอาจเริ่มต้นให้นักเรียนเขียน เช่น "ในห้องเรียนมี..................." แล้วให้นักเรียนเขียนเติม
กิจกรรมที่ 2  เติมคำลงในช่องว่าง  ดังตัวอย่าง
      
       มาลีอาศัยอยู่ในห้องที่น่ารัก  ภายในห้องของเธอมี.........  ,  ......... , .......... และ................. อย่างละหนึ่งอัน  และมี.................หลายอัน แต่ไม่มี...................เธอต้องการได้..................สำหรับประดับฝาห้อง

กิจกรรมที่ 3 เติมคำบุพบทในช่องว่างให้เหมาะสมกับบริบทของเรื่อง
ดังตัวอย่าง

       ภาพนี้เป็นภาพห้องของมาลี เตียงนอนอยู่............กับหน้าต่าง มีชั้นวางหนังสืออยู่.........เตียงของเธอ บน.........มีวิทยุซึ่งอยู่.............โต๊ะทำงาน

กิจกรรมที่ 4 เขียนบรรยายจากคำถาม  ให้นักเรียนดูภาพแล้วใช้ชุดคำถามเป็นแนวทางให้นักเรียนเขียนบรรยายสั้นๆเกี่ยวกับภาพนั้น ตัวอย่างคำถาม
  - มาลีมีห้องที่น่ารักใช่หรือไม่
  - มีสิ่งของอะไรบ้างในห้องของมาลี
  - นักเรียนชอบอะไรในห้องของมาลี
  - เธอมีห้องเหมือนมาลีไหม  บรรยายห้องของเธอมา 2-3 ประโยค

กิจกรรมที่ 5 เขียนจากชุดคำ  โดยครูให้ชุดคำแก่นักเรียนที่จะเขียนตามการชี้แนะเพื่อการเขียนประโยค  แล้วให้นักเรียนเขียนเล่าเรื่องเป็นย่อหน้าสั้นๆ  เช่น
 - วินัย / ห้องครัว / กาแฟ / เตรียม / ลงบันได
 - ของเขา / ภรรยา / ดังนั้น / อาหารเช้า / ออกไปนอกบ้าน / ใน / สวน
กิจกรรมที่ 6 การรวมประโยค โดยใช้คำเชื่อม
ตัวอย่าง 
  - ผู้ชายคนนั้นรูปร่างสูง              - ผู้ชายคนนั้นมีผมดำ
  - ผู้ชายคนนั้นยืนอยู่ริมหน้าต่าง  -ผู้ชายคนนั้นดูน่าสงสัย

กิจกรรมที่ 7 การเขียนจากการสัมภาษณ์ปากเปล่า ให้นักเรียนสัมภาษณ์เพื่อนแล้วเขียนบอกสิ่งที่เขาเรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนคนนั้น โดยกำหนดหัวขอไว้ล่วงหน้า เช่น
  - พูดคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับตัวของเพื่อนและครอบครัวมีความเป็นมาจากไหน ครอบครัวอยู่ที่ไหน งานอดิเรกคืออะไร ฯลฯ
  - พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับโรงเรียน
  - ให้พูดบรรยายเหตุการณ์ที่น่าจดจำ
  - ให้พูดบรรยายเป้าหมายและแผนการในอนาคต
  - ให้พูดบรรยายถึงเรื่องการปิดภาคเรียนที่ผ่านมา
        กิจกรรมที่นำเสนอทั้ง 7 กิจกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในขั้นเตรียมการก่อนเขียน( pre-writing ) ที่ครูต้องให้เวลาแก่  นักเรียนในการคิดที่จะเขียนเพื่อสื่อสารด้วยตนเอง......ในครั้งต่อไปจะขยายตัวอย่างกิจกรรมที่ครูสามารถนำไปใช้ในแต่ละขั้นของกระบวนการเขียนค่ะ














วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการเขียน :ตอนที่ 4

      นักวิชาการและองค์กรทางวิชาการที่เสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการเขียนและแบ่งกระบวนการเขียนเป็น 5 ขั้นคล้ายคลึงกัน มีดังนี้ (Laurich.2009:Online, Arcanum High School.2010:Online, Texas Assisstive Technology Network.2010:Online, Time4Writing.2010:Online)

1. การเตรียมการก่อนเขียน(Prewriting)เป็นขั้นของการคิดหรือขั้นวางแผนการเขียน ประกอบด้วยการดำเนินการดังต่อไปนี้
   1.1 การตกลงใจเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่จะเขียน
   1.2 การตั้งจุดประสงค์ในการเขียน ( เพื่อเล่าเรื่อง เพื่ออธิบาย หรือเพื่อเปรียบเทียบ ฯลฯ)
   1.3 การพิจารณาเกี่ยวกับผู้อ่านหรือผู้ที่จะฟังงานเขียน
1.4 การพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างเนื้อหา(Text structure)
     การดำเนินการในขั้นเตรียมการก่อนเขียนประกอบด้วยวิธีการดังนี้
      1) การจัดทำรายการที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับหัวข้อเรื่อง
      2) การเขียนอย่างอิสระ เริ่มต้นเขียนตามหัวข้อเรื่องอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดเวลาที่ตั้งไว้
      3) การรวบรวมความคิดหรือสารสนเทศเกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง โดยการระดมความคิดจากการอ่านหรือการค้นคว้าจากสถานที่ต่างๆ การอภิปรายพูดคุยกับผู้อื่น การกลั่นกรองโดยการคิดอย่างลึกซึ้ง ว่ามีสิ่งใดที่จำเป็นต้องกล่าวถึงเกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง หรือใช้วิธีการอื่นที่จะช่วยให้ได้จุดสำคัญของความคิด
      4) การเรียบเรียงความคิด โดยการจัดกลุ่มความคิดหลักเป็นศูนย์กลาง แล้วเชื่อมโยงคำ วลี หรือความคิดที่เกี่ยวข้องมาสู่ศูนย์กลาง เป็นการหาทิศทางของความคิด หรือการเรียบเรียงตามลักษณะโครงสร้างเนื้อหา
     5) การอาศัยแผนภาพในการสร้างภาพความคิดหรือวางเค้าโครงความคิด  ซึ่งจะมีลักษณะของการจัดกลุ่ม  การแสดงลำดับขั้นที่มีเหตุผล การแสดงความสัมพันธ์ของสารสนเทศหรือความคิด หรือการเรียบเรียงตามรูปแบบการเขียน(Form of writing) ซึ่งแผนภาพนี้ยังใช้เป็นสิ่งอ้างอิงในขณะที่นักเรียนดำเนินการตลอดกระบวนการเขียน
      ในขั้นตอนนี้ครูควรทำให้นักเรียนมีความรู้และกลวิธีในเรื่องต่างๆ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาหรือรูปแบบการเขียน กลวิธีในการหาหัวข้อเรื่อง กลวิธีสร้างความคิดและกลวิธีในการเรียบเรียงความคิด
       เมื่อวางแผนการเขียนแล้ว มีแนวทางในการตรวจสอบความสมบูรณ์อาจใช้คำถามต่อไปนี้
1)  ชื่อเรื่อง..............
2)  ฉันเขียนเรื่องสำหรับใคร...............
3)  ทำไมฉันต้องเขียนเรื่องนี้...............
4)  ฉันรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้(ระดมสมอง).............
5)  ฉันจะจัดกลุ่มความคิดอย่างไร.................................
6)  ฉันจะเรียบเรียงความคิดอย่างไร
ก. เปรียบเทียบความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างอะไร
ข. อธิบายอะไร
ค. ปัญหาและการแก้ไขในเรื่องอะไร
ง. ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น(เริ่มแรก ต่อมา จากนั้น ในที่สุด)

2. การร่าง(Drafting) เป็นขั้นการเขียนความคิดเป็นประโยคและย่อหน้าตามโครงร่าง  การร่างครั้งแรกย่อมไม่สมบูรณ์ แต่การร่างบ่อยครั้งจะทำให้ผู้เขียนรู้มากกว่าครั้งก่อนที่เคยร่าง  และจะเตรียมการได้ดียิ่งขึ้น  การร่างเป็นขั้นตอนของการเขียน  ดำเนินการดังนี้
2.1 นำสารสนเทศที่ค้นคว้ามาเขียนด้วยภาษาของตนเอง
2.2 เขียนประโยคและย่อหน้า  แม้ว่าจะยังเขียนได้ไม่สมบูรณ์
2.3 อ่านสิ่งที่เขียนแล้วตัดสินว่าข้อเขียนกล่าวถึงสิ่งที่ต้องการหรือไม่
2.4 นำร่างเสนอให้ผู้อื่นอ่านแล้วขอคำแนะนำ

       3. การปรับปรุง(Revising)เป็นขั้นที่ทำให้การร่างมีความหมายชัดเจนน่าสนใจหรือขยายความคิดมากขึ้น ทั้งนี้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วยการดำเนินการด้วยตนเอง จับคู่ทำกับเพื่อนหรือทำในกลุ่มเล็ก ดังนี้
      3.1 อ่านข้อเขียนอีกครั้งเพื่อเป็นการทบทวน
      3.2 คิดถึงสิ่งที่ผู้อื่นแนะนำไว้
      3.3 เรียบเรียงคำ หรือประโยคใหม่
      3.4 เอาบางส่วนออก หรือเพิ่มเติมบางส่วนเข้าไป
      3.5 ใช้คำใหม่แทนคำที่ใช้บ่อยครั้งเกินไป หรือไม่ชัดเจน
      3.6 ปรับปรุงลีลาการเขียนเพื่อให้ร่างการเขียนดีขึ้น
      3.7 อ่านข้อเขียนดังๆเพื่อดูว่าข้อเขียนดำเนินอย่างราบรื่นหรือไม่


      4. การแก้ไข/การพิสูจน์อักษร(Editing/Proofreading) เป็นขั้นการแก้ไขข้อผิดพลาดในด้านไวยากรณ์ และระเบียบแบบแผนทางภาษา ได้แก่ การสะกดคำ การใช้อักษรและเครื่องหมายวรรคตอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ไขให้ประณีตยิ่งขึ้นและเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจส่วนตัวของผู้เขียน 

             5. การเผยแพร่(Publishing) ขั้นนี้มีความหมายกว้างมากกว่าการนำข้อเขียนไปจัดพิมพ์ในวารสารหรือหนังสือพิมพ์ แต่หมายความรวมถึงการนำข้อเขียนไปถึงมือผู้อ่านที่อาจเป็น เพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง หรือเป็นขั้นที่จัดให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มเพื่อน และระหว่างผู้อ่านอื่นๆ ซึ่งอาจเลือกดำเนินการดังนี้
               5.1 อ่านข้อเขียนดังๆให้กลุ่มเพื่อนฟัง
               5.2 นำผลงานจัดทำเป็นหนังสือ
               5.3 สำเนาส่งให้เพื่อนหรือญาติอ่าน
               5.4 จัดแสดงผลงาน/นิทรรศการผลงานเขียน

     

กระบวนการเขียนทั้ง 4 ตอนที่กล่าวมาแล้วคงเป็นแนวทางให้ครูภาษาไทยพิจารณาเลือกใช้หรือประยุกต์นำไปสู่การสอนและจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติทั้งกระบวนการเขียน....และอย่าลืมนะคะ.....กระบวนการเขียนนี้สามารถดำเนินกลับไปกลับมาในแต่ละขั้นได้.....เพราะการเขียนเป็นการคิดที่คู่ขนานกันตลอดเวลา....................