การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการเขียน :ตอนที่ 4

      นักวิชาการและองค์กรทางวิชาการที่เสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการเขียนและแบ่งกระบวนการเขียนเป็น 5 ขั้นคล้ายคลึงกัน มีดังนี้ (Laurich.2009:Online, Arcanum High School.2010:Online, Texas Assisstive Technology Network.2010:Online, Time4Writing.2010:Online)

1. การเตรียมการก่อนเขียน(Prewriting)เป็นขั้นของการคิดหรือขั้นวางแผนการเขียน ประกอบด้วยการดำเนินการดังต่อไปนี้
   1.1 การตกลงใจเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่จะเขียน
   1.2 การตั้งจุดประสงค์ในการเขียน ( เพื่อเล่าเรื่อง เพื่ออธิบาย หรือเพื่อเปรียบเทียบ ฯลฯ)
   1.3 การพิจารณาเกี่ยวกับผู้อ่านหรือผู้ที่จะฟังงานเขียน
1.4 การพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างเนื้อหา(Text structure)
     การดำเนินการในขั้นเตรียมการก่อนเขียนประกอบด้วยวิธีการดังนี้
      1) การจัดทำรายการที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับหัวข้อเรื่อง
      2) การเขียนอย่างอิสระ เริ่มต้นเขียนตามหัวข้อเรื่องอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดเวลาที่ตั้งไว้
      3) การรวบรวมความคิดหรือสารสนเทศเกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง โดยการระดมความคิดจากการอ่านหรือการค้นคว้าจากสถานที่ต่างๆ การอภิปรายพูดคุยกับผู้อื่น การกลั่นกรองโดยการคิดอย่างลึกซึ้ง ว่ามีสิ่งใดที่จำเป็นต้องกล่าวถึงเกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง หรือใช้วิธีการอื่นที่จะช่วยให้ได้จุดสำคัญของความคิด
      4) การเรียบเรียงความคิด โดยการจัดกลุ่มความคิดหลักเป็นศูนย์กลาง แล้วเชื่อมโยงคำ วลี หรือความคิดที่เกี่ยวข้องมาสู่ศูนย์กลาง เป็นการหาทิศทางของความคิด หรือการเรียบเรียงตามลักษณะโครงสร้างเนื้อหา
     5) การอาศัยแผนภาพในการสร้างภาพความคิดหรือวางเค้าโครงความคิด  ซึ่งจะมีลักษณะของการจัดกลุ่ม  การแสดงลำดับขั้นที่มีเหตุผล การแสดงความสัมพันธ์ของสารสนเทศหรือความคิด หรือการเรียบเรียงตามรูปแบบการเขียน(Form of writing) ซึ่งแผนภาพนี้ยังใช้เป็นสิ่งอ้างอิงในขณะที่นักเรียนดำเนินการตลอดกระบวนการเขียน
      ในขั้นตอนนี้ครูควรทำให้นักเรียนมีความรู้และกลวิธีในเรื่องต่างๆ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาหรือรูปแบบการเขียน กลวิธีในการหาหัวข้อเรื่อง กลวิธีสร้างความคิดและกลวิธีในการเรียบเรียงความคิด
       เมื่อวางแผนการเขียนแล้ว มีแนวทางในการตรวจสอบความสมบูรณ์อาจใช้คำถามต่อไปนี้
1)  ชื่อเรื่อง..............
2)  ฉันเขียนเรื่องสำหรับใคร...............
3)  ทำไมฉันต้องเขียนเรื่องนี้...............
4)  ฉันรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้(ระดมสมอง).............
5)  ฉันจะจัดกลุ่มความคิดอย่างไร.................................
6)  ฉันจะเรียบเรียงความคิดอย่างไร
ก. เปรียบเทียบความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างอะไร
ข. อธิบายอะไร
ค. ปัญหาและการแก้ไขในเรื่องอะไร
ง. ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น(เริ่มแรก ต่อมา จากนั้น ในที่สุด)

2. การร่าง(Drafting) เป็นขั้นการเขียนความคิดเป็นประโยคและย่อหน้าตามโครงร่าง  การร่างครั้งแรกย่อมไม่สมบูรณ์ แต่การร่างบ่อยครั้งจะทำให้ผู้เขียนรู้มากกว่าครั้งก่อนที่เคยร่าง  และจะเตรียมการได้ดียิ่งขึ้น  การร่างเป็นขั้นตอนของการเขียน  ดำเนินการดังนี้
2.1 นำสารสนเทศที่ค้นคว้ามาเขียนด้วยภาษาของตนเอง
2.2 เขียนประโยคและย่อหน้า  แม้ว่าจะยังเขียนได้ไม่สมบูรณ์
2.3 อ่านสิ่งที่เขียนแล้วตัดสินว่าข้อเขียนกล่าวถึงสิ่งที่ต้องการหรือไม่
2.4 นำร่างเสนอให้ผู้อื่นอ่านแล้วขอคำแนะนำ

       3. การปรับปรุง(Revising)เป็นขั้นที่ทำให้การร่างมีความหมายชัดเจนน่าสนใจหรือขยายความคิดมากขึ้น ทั้งนี้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วยการดำเนินการด้วยตนเอง จับคู่ทำกับเพื่อนหรือทำในกลุ่มเล็ก ดังนี้
      3.1 อ่านข้อเขียนอีกครั้งเพื่อเป็นการทบทวน
      3.2 คิดถึงสิ่งที่ผู้อื่นแนะนำไว้
      3.3 เรียบเรียงคำ หรือประโยคใหม่
      3.4 เอาบางส่วนออก หรือเพิ่มเติมบางส่วนเข้าไป
      3.5 ใช้คำใหม่แทนคำที่ใช้บ่อยครั้งเกินไป หรือไม่ชัดเจน
      3.6 ปรับปรุงลีลาการเขียนเพื่อให้ร่างการเขียนดีขึ้น
      3.7 อ่านข้อเขียนดังๆเพื่อดูว่าข้อเขียนดำเนินอย่างราบรื่นหรือไม่


      4. การแก้ไข/การพิสูจน์อักษร(Editing/Proofreading) เป็นขั้นการแก้ไขข้อผิดพลาดในด้านไวยากรณ์ และระเบียบแบบแผนทางภาษา ได้แก่ การสะกดคำ การใช้อักษรและเครื่องหมายวรรคตอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ไขให้ประณีตยิ่งขึ้นและเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจส่วนตัวของผู้เขียน 

             5. การเผยแพร่(Publishing) ขั้นนี้มีความหมายกว้างมากกว่าการนำข้อเขียนไปจัดพิมพ์ในวารสารหรือหนังสือพิมพ์ แต่หมายความรวมถึงการนำข้อเขียนไปถึงมือผู้อ่านที่อาจเป็น เพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง หรือเป็นขั้นที่จัดให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มเพื่อน และระหว่างผู้อ่านอื่นๆ ซึ่งอาจเลือกดำเนินการดังนี้
               5.1 อ่านข้อเขียนดังๆให้กลุ่มเพื่อนฟัง
               5.2 นำผลงานจัดทำเป็นหนังสือ
               5.3 สำเนาส่งให้เพื่อนหรือญาติอ่าน
               5.4 จัดแสดงผลงาน/นิทรรศการผลงานเขียน

     

กระบวนการเขียนทั้ง 4 ตอนที่กล่าวมาแล้วคงเป็นแนวทางให้ครูภาษาไทยพิจารณาเลือกใช้หรือประยุกต์นำไปสู่การสอนและจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติทั้งกระบวนการเขียน....และอย่าลืมนะคะ.....กระบวนการเขียนนี้สามารถดำเนินกลับไปกลับมาในแต่ละขั้นได้.....เพราะการเขียนเป็นการคิดที่คู่ขนานกันตลอดเวลา....................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น