การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการจัดการเรียนการสอนเขียน : ตอนที่ 2

     การริเริ่มการคิดและการได้มาซึ่งหัวข้อที่จะเขียน เป็นเรื่องสำคัญที่ครูควรจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่นักเรียนในขั้นเตรียมการก่อนเขียน(pre-writing)ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการเขียน  ข้อสำคัญคือนักเรียนควรได้สำรวจความคิดในการหาหัวข้อที่จะเขียน  โดยครูอาจใช้กลยุทธ์ดังต่อไปนี้
   - การระดมสมอง
   - การสร้างแผนภาพ
   - การสัมภาษณ์ผู้รู้ที่จะช่วยให้ได้หัวข้อเรื่อง
   - การร่วมอภิปรายหรือการประชุมหารือในกลุ่มเพื่อน
   - การประชุมกลุ่มที่มีครูเข้าร่วมให้คำปรึกษา
   - การฟังดนตรี
   - การอ่านและค้นคว้าหาชื่อเรื่อง
   - การเขียนอย่างเสรีเกี่ยวกับเรื่อง/ชื่อเรื่อง
   - การย้อนคิดทบทวนจากประสบการณ์
   - การตรวจสอบความคิดจากแบบอย่างการเขียนที่ดีๆ
   - การดูสื่อต่างๆ เช่น ภาพ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ฯลฯ
   - การอ่านและแสดงความรู้สึกที่มีต่อวรรณคดี
   - การเล่นบทบาทสมมุติ/ละคร
   - การใช้คำถาม 5Ws ( who,what,where,when,why )


       การระดมสมองเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ และอารมณ์ความรู้สึก  โดยการบอกชื่อบุคคลที่ต้องการบรรยาย  แล้วลองพูดบรรยายอย่างสั้นๆอย่างรวดเร็วให้เพื่อนฟัง หรือจดชื่อสถานที่ที่ได้ไปมา  แล้วเขียนเฉพาะคำที่จะใช้บรรยายในแต่ละที่ หรือจดรายการและบรรยายถึงความรู้สึกที่จดจำได้ และอธิบายถึงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น
           การพูดคุยโดยการจับคู่หรือกลุ่ม  โดยผลัดกันเล่าถึงบุคคล สิ่งของ เหตุการณ์ วัตถุที่น่าสนใจ ให้ผู้ฟังตั้งคำถามเพื่อเพิ่มความคิด บันทึกความคิดและชื่อเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างการอภิปราย
การชมงานศิลปะ ศึกษาภาพระบายสี ภาพถ่าย ภาพวาดหรืองานปั้นในวารสารหรือหนังสือทางศิลปะ หรืออาจไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์หรือที่แสดงนิทรรศการงานศิลปะ จดบันทึกรวมทั้งจดคำถามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับงานศิลปะ และจดเฉพาะหัวข้อเรื่องที่เกิดขึ้นในใจขณะการสังเกต เพื่อนำกลับมาสนทนาในกลุ่มโดยอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะนั้น


      การฟังดนตรี  การฟังดนตรีที่ชอบ/ที่ใหม่/ที่ไม่คุ้นเคย จากเทปหรือวิทยุ  โดยหลับตาแล้วให้เสียงเพลงช่วยสร้างภาพในใจ  จากนั้นจดบันทึกความคิดที่ได้แล้วนำมาพูดคุยถึงจินตนาการที่เกิดขึ้น
    การแสดงบทบาทสมมุติ โดยร่วมแสดงเป็นตัวละครต่างๆกับเพื่อนๆ เพื่อสร้างเหตุการณ์สมมุติขึ้น ว่าจะเกิดอะไรขึ้น    การสังเกตด้วยประสาทสัมผัส  โดยให้นักเรียนตระหนักว่ามันเกิดขึ้นรอบๆตัวเราทั้งในห้องเรียน ที่บ้าน ที่ร้านค้า และทุกๆที่ที่ไป ฟังการสนทนาของบุคคลที่พบ พิจารณารายละเอียดของกริยาท่าทางและการแต่งกาย สังเกตเพื่อให้ได้ข้อคิด ปัญหาหรือความสำเร็จในชุมชน จดบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ในทันทีเท่าที่จะทำได้
         การอ่าน ครูควรให้นักเรียนอ่านหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์หรือบทกวี แล้วบันทึกความคิดที่เกิดขึ้น รวมทั้งตั้งคำถามที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป ในเรื่องเกี่ยวกับ คำศัพท์ที่น่าสนใจ โครงเรื่อง ตัวละคร
        การค้นคว้าจากหนังสือพิมพ์  โดยให้นักเรียนอ่านเรื่องหรืดพาดหัวข่าวที่สนใจ แล้วจดความคิดเพื่อเขียนบทความหนังสือพิมพ์ หรือความคิดที่จะนำมาใช้ในการเขียนประเภทต่างๆ 
        การเชิญนักเขียนมาให้ข้อคิด  การที่นักเรียนได้ฟังนักเขียนมาพูดอภิปรายถึงผลงานและข้อคิดจากการเขียน  จะทำให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการเขียนได้มากขึ้น และเก็บเกี่ยวความคิดสำหรับการเขียนของตนเอง
        กิจกรรมทั้งหลายในขั้นเตรียมการก่อนเขียน(pre-writing)นี้เป็นหลักสำคัญสำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีประสบการณ์การเขียน  ซึ่งจะมีความยุ่งยากในการเข้าถึงความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ และความรู้ กิจกรรมต่างๆจะช่วยให้นักเรียนมีจุดเริ่มต้น  และตระหนักถึงแหล่งที่จะได้ความคิดในวันข้างหน้า  การมีจุดเริ่มต้นในการคิดและเขียนจะจูงใจในการพัฒนางานเขียนของนักเรียนในครั้งต่อๆไป

มาช่วยกันเติมเต็มการริเริ่มและการคิด  เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยคิดแล้วสามารถสื่อสารความคิดโดยการเขียน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น