การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ครูที่มีความสามารถสูง

            เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว(ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2554) ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมประชุมปฏิบัติการการจัดการความรู้ ของสพฐ. ซึ่งจัดที่โรงแรมริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ ผู้ร่วมประชุมมีทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครูภาษาไทย ครูคณิตศาสตร์ และครูที่จัดกิจกรรมบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดการประชุมดังกล่าวผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการความรู้ผ่านกระบวนการเขียนเล่าประสบการณ์ การสนทนากลุ่มและการแลกเปลี่ยนกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติแล้วและมีผลการปฏิบัติดี  ที่สำคัญคือได้เรียนรู้วิธีการทำงานของเพื่อนครูภาษาไทยทั้ง 38 คน ในเวลา 4 วันเป็นวันที่มีความหมาย ทำให้ผู้เขียนทบทวนความคิดและประมวลความหมายของ "ครูที่มีคุณภาพ:ครูที่มีความสามารถสูง"จากการประชุมและจากความคิดของนักวิชาการ ดังนี้

           Steve Peha (2010) ให้มุมมองถึงลักษณะ7ประการที่ครูพึงปฏิบัติอยู่เสมอแล้วจะเป็นครูที่มีคุณภาพ/มีความสามารถสูง ซึ่งมีมุมมองแตกต่างจากสิ่งที่เราคุ้นเคย และมีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของครูภาษาไทย ที่ผู้เขียนได้พบในการประชุม  ดังนี้

        1.กระทำกับสิ่งที่มีอยู่ไม่ใช่กระทำกับสิ่งที่ขาดหายไป  โรงเรียนหรือครูมักจะวัดผลนักเรียนเพื่อที่จะพิจารณาจุดด้อย แล้วแยกนักเรียนออกไปอยู่กับกลุ่มด้อย จากนั้นก็พยายาม "เติมเต็มช่องว่าง"ของความสามารถของนักเรียน ด้วยการจัดการเรียนการสอนของครู ราวกับว่านักเรียนเป็นกระดานชนวนที่ว่างเปล่าสำหรับเขียน หรือเป็นภาชนะที่ว่างเปล่าสำหรับเติมเต็มสิ่งใดๆลงไป  แต่จากการวิจัยเกี่ยวกับสมองและสามัญสำนึกบอกให้เราทราบว่า นักเรียนเรียนได้ดีกว่าถ้าครูสอนจากพื้นฐานที่เขารู้อยู่แล้ว(สิ่งที่เขามีอยู่) ไม่ใช่สอนจากสิ่งที่เขาไม่รู้(สิ่งที่เขาไม่มี)
      2. จัดการวัดและประเมินผลเพื่อความเข้าใจตัวนักเรียน ไม่ใช่เพื่อการตัดสินดีหรือเลว ครูควรมีมุ่งหมายที่จะรู้จักนักเรียนอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ในฐานะมนุษย์โดยภาพรวมทั้งหมด มากกว่าที่จะคำนึงถึงเกรดหรือคะแนน 


     3. แสวงหาตัวแบบไม่ใช่แก้ไข  การแก้ไขนักเรียนโดยการให้คะแนนผลงานและการทดสอบ ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ แต่กลับสูญเสียเวลาและไม่ใช่หนทางที่ได้ประโยชน์ การแก้ไขเป็นการบอกถึงความผิด  ไม่ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ในจุดที่ต้องการ แต่นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากตัวแบบและแก้ไขด้วยตนเอง

     4. จัดหาเครื่องมือให้ไม่ใช่ให้กฎเกณฑ์  โดยมากการสอนเป็นการให้กฎเกณฑ์ ให้นักเรียนทำสิ่งนั้นไม่ทำสิ่งนี้ เป็นการเพิ่มกฎเกณฑ์ แต่ลดศักยภาพของนักเรียนในการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นความสามารถพื้นฐานที่เราหวังจะให้เด็กมีก่อนที่เขาจะจบการศึกษาไปจากโรงเรียน

     5. คำนึงถึงกระบวนการไม่ใช่ผลงาน นักเรียนไม่ว่าวัยใด ความสามารถระดับใด จะมีความก้าวหน้าได้ดีถ้าเราให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ มากกว่าคำแนะนำเกี่ยวกับผลงาน  การให้คุณค่าในเรื่อง "นักเรียนเรียนรู้อย่างไร" เพิ่มเติมจากเรื่อง "นักเรียนเรียนรู้อะไร" เป็นการคำนึงถึงนักเรียนแต่ละบุคคล และให้พื้นฐานแก่เขาสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต


     6. ควบคุมกิจกรรมไม่ใช่ควบคุมนักเรียน  นักเรียนต้องการโครงสร้างการเรียนการสอน โดยเฉพาะตอนเริ่มต้น  แต่โครงสร้างนั้นต้องไม่กำหนดว่านักเรียนต้องทำอะไรและทำอย่างไร เพราะนักเรียนต้องการทางเลือกในการเรียนรู้และการแก้ปัญหา ถ้านักเรียนไม่ได้เลือกจะทำให้เขาขาดความรู้สึกความเป็นเจ้าของ และถ้่าไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ จะทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจน้อยที่จะทำให้ดีที่สุด

     7. ยกย่องชมเชยความพยายามไม่ใช่ผลงาน  นักเรียนต้องการการยกย่องชมเชยจากครู ซึ่งจะทำให่เขาเต็มใจทำในสิ่งนั้น ครูจึงควรยกย่องชมเชยความพยายามแทนผลงาน เพราะนักเรียนทุกคนไม่ได้ประสบความสำเร็จในงานที่เขาพยายามทำ  โดยเฉพาะงานใหม่ๆ แต่ถ้าเมื่อใดที่นักเรียนมีความพยายามทำงานนั้นๆ เขาย่อมมีโอกาสเรียนรู้และปรับปรุงตนเอง

        ขอขอบคุณ อ.ดุจดาว เจ้าของโครงการ ครูภาษาไทยทั้ง 38 คนและศึกษานิเทศก์กัลยาณมิตรทั้ง 3 คน(ศน.ประไพพิศ  ศน.สิรี และ ศน.ชโลบล) ที่ร่วมถอดประสบการณ์การจัดการความรู้ของครูภาษาไทย ที่ทำให้เกิดบทความนี้ค่ะ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น