การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาความสามารถในการเขียน ตอนที่ 1

          การเขียน คือ พฤติกรรมหนึ่งของการสื่อสารของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกถึงประสบการณ์และความรู้ของผู้เขียน  เป็นการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด  ความต้องการและความในใจของตนเองไปสู่ผู้อื่น  โดยใช้ลายลักษณ์อักษรเป็นสื่อที่จะส่งสารอันมีความหมายไปยังผู้รับสาร ซึ่งต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ เช่น กลวิธีการนำเสนอ  การเลือกสรรถ้อยคำ  รูปแบบการเขียน  เป็นต้น


การเขียนสำคัญอย่างไร...ทำไมต้องพัฒนา

        Harrett (2006 ) มีความเห็นว่า  การเขียนมีความสำคัญที่มุ่งไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ (Spiritual Development ) ช่วยพัฒนาให้คนรับรู้ความจริงจากงานเขียนและร่วมสร้างสรรค์สังคม


                Chappell (2007) ให้เหตผลว่าการเขียนมีความสำคัญมากเพราะ

                1. การเขียนถือเป็นความสามารถพื้นฐานเบื้องต้นที่ใช้ในการตัดสินการทำงาน  การเรียนรู้
                2. การเขียนเป็นการแสดงตัวตนของผู้เขียน
                3. การเขียนเป็นสิ่งที่สัมผัสได้และคงทน ทำให้ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มองเห็นได้
                4. การเขียนช่วยให้ผู้เขียนใช้ข้อเท็จจริง  การอนุมานและความคิดเห็นได้ราบรื่นและไม่ทำให้ผู้อ่านสับสน
                5. การเขียนส่งเสริมความสามารถในการนำเสนอประเด็นความคิดที่มีคุณค่า
                6. การเขียนสนับสนุนความสามารถของผู้เขียนในการอธิบายความคิดที่สลับซับซ้อนแก่ตนเองและผู้อ่าน
                7. การเขียนช่วยให้ผู้อ่านให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เขียนได้
                8. การเขียนทำให้ผู้ที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้อื่นได้ขัดเกลาความคิดของตน
                9. การเขียนทำให้ผู้เขียนคาดคะเนความต้องการของผู้อ่าน  ความสามารถที่ทำได้เช่นนี้  แสดงถึงวุฒิภาวะและความยืดหยุ่นทางสติปัญญาของผู้เขียน
               10. การเขียนถึงความคิดของผู้เขียน เป็นการรักษาไว้ซึ่งความคิด  เพื่อกลับมาคิดทบทวนภายหลัง
                11. การเขียนความคิดออกมาจะเปิดโอกาสให้ผู้เขียนประเมินความเพียงพอของเหตุผลได้
                12. การเขียนทำให้ผู้เขียนขยายวงความคิดไปได้เหนือกว่าความคิดแรก
                13. การเขียนช่วยให้เข้าใจได้ว่า  ความจริงในสาขาวิชาการนั้นๆสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
                14. การเขียนก่อให้เกิดทักษะทางการสื่อสาร  และการคิดที่ต้องใช้เหตุผลในสังคมประชาธิปไตย
                15. การเขียนเป็นทักษะการทำงานที่สำคัญ

               ความสำคัญของการเขียนที่กล่าวข้างต้น  เป็นความคิดเห็นของนักวิชาการที่มีต่อการเขียนโดยทั่วไป  ในส่วนของความสำคัญของการเขียนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนของนักเรียน  มีผู้ให้ความเห็นหลายท่านดังนี้

Marmara Elt Resources ( 2009 ) กล่าวถึง
ความสำคัญของการเรียนรู้ที่จะเขียน
( Learning to writing ) ดังนี้

             1. การเรียนรู้ที่จะเขียนช่วยทำให้นักเรียนเป็นผู้อ่านที่เก่งขึ้น  เพราะการอ่านและการเขียนเป็นกระบวนการทางความคิดที่สัมพันธ์กัน

              2. การเรียนรู้ที่จะเขียน  ให้ผลดีช่วยให้นักเรียนพัฒนาในวิชาอื่นๆด้วย  เพราะการเขียนเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาต่างๆ ช่วยนักเรียนในการเรียนรู้วิชานั้น  ทั้งคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง  โครงสร้างของเรื่องที่สัมพันธ์เนื้อหา และการทำความกระจ่างในความคิด

             3. ผลงานเขียนของนักเรียนจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ครูใช้ในการประเมินว่านักเรียนเข้าใจในวิชานั้นๆหรือไม่


               4. การเรียนรู้ที่จะเขียน  ส่งเสริมพัฒนาการทางความคิด  เพราะการเขียนคำลงในกระดาษต้องอาศัยการตัดสินใจและการแก้ปัญหา  ผู้เขียนต้องตัดสินใจว่าข้อเท็จจริงหรือสารสนเทศใดที่มีความสำคัญที่ผู้อ่านควรรู้  ผู้เขียนต้องคัดสรรสารสนเทศโดยตลอด จากนั้นลำดับความสำคัญและสังเคราะห์เพื่อสร้างข้อความที่มีความหมาย  การเขียนจึงเป็นการให้โอกาสแก่นักเรียนในการฝึกฝนทักษะการคิดระดับสูง

           สิ่งสำคัญที่ครูควรตระหนักว่า  การใช้เวลาในการเรียนรู้ที่จะเขียน  จะทำให้มีนักเรียนที่อ่านเก่ง  คิดเก่ง  และเขียนเก่ง  อันเป็นสิ่งที่ครูภาษาไทยต้องการให้มีในเด็กไทยของเรา




           การเขียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคคลและสังคม  ในแง่ของบุุคคลการเขียนเป็นการสื่อสารถ่ายทอดความรู้  ความคิด  ความรู้สึกและการแสดงออกถึงตัวตนของผู้เขียนต่อผู้อื่น  มีผลให้บุคคลได้พัฒนาทางภาษา  ทางการเรียนรู้  การคิด  และการริเริ่มสร้างสรรค์ตลอดจนจิตวิญญาณ  การเขียนที่ดีช่วยทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง  และยังใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตและการทำงานอาชีพ  ในแง่สังคมเป็นการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม  สร้างสรรค์และพัฒนาในสาขาอาชีพต่างๆ  สร้างความเข้าใจระหว่างคนในสังคม  สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และความเคารพนับถือกัน  การเขียนสร้างสรรค์สังคมด้วยความคิดที่มีคุณค่า ด้วยเหตุนี้เด็กและเยาวชนไทยจึงควรได้รับการพัฒนาความสามารถในการเขียน  เพื่อปูทางไปสู่ความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน  ทำให้การเขียนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทางศึกษา 
โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น