การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาความสามารถในการเขียน ตอนที่ 4

 
"วันนี้เราจะมาทบทวนหลักการที่จะช่วยให้การสอนเขียนมีผลดี"


                 Nationnal Concil of Teachers of English ( 2004 : Online ) เสนอหลักการที่จะช่วยให้ครูจัดการเรียนการสอนเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ครูผู้สอนควรมีความเชื่อมั่นในสิ่งต่อไปนี้


                 1. มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะการเขียน  การเขียนสามารถสอนได้และครูสามารถช่วยให้นักเรียนเป็นนักเขียนที่ดีได้  ครูควรออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่มุงให้นักเรียนได้เรียนกลวิธีการเขียนและได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยการนำแนวคิดทางทฤษฎีและผลการวิจัยมาสู่การปฏิบัติการ


                 2. บุคคลเรียนรู้ที่จะเขียนด้วยการเขียน  การจะเขียนได้ดีต้องเขียนมาก  ยิ่งเขียนมากก็เขียนง่ายขึ้นและมีแรงจูงใจมากขึ้น  นักเรียนจะเรียนรู้กระบวนการเขียนจากการมีประสบการณ์ภายในกระบวนการนั้นๆ นับตั้งแต่การร่างข้อเขียน  การคิดทบทวน  และการปรับปรุงแล้วร่างใหม่


                 3.การเขียนเป็นกระบวนการ  การพิจารณาการเขียนจึงไม่ใช่เพียงผลงานที่เขียนสำเร็จแล้ว  แต่ต้องพิจารณาถึงสิ่งที่ผู้เขียนได้กระทำเพื่อให้ได้ข้อเขียนนั้น  กระบวนการเขียนไม่มีสูตรตายตัว  เป็นขั้นตอนที่สามารถปฏิบัติกลับไปกลับมาได้  ในการสอนเขียนครูควรใส่ใจกับกระบวนการที่นักเรียนต้องใช้เพื่อสร้างข้อความ  นักเรียนควรได้ใช้กลวิธีที่หลากหลายในการเตรียมการเขียน  การพัฒนาและจัดระเบียบข้อมูล/ข่าวสาร  กลวิธีในการปรับปรุงแก้ไข  ครูเป็นผู้แนะนำแนวทางตามกระบวนการเขียน  รวมทั้งช่วยเหลือนักเรียนในขณะดำเนินการเขียน  โดยใช้สถานการณ์ของความร่วมมือกัน  นักเรียนจะเรียนรู้ที่จะเขียนได้อย่างดีร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ  การสอนเขียนควรให้โอกาสนักเรียนแสวงหากระบวนการที่ดีที่สุดสำหรับตัวนักเรียนเองจากการปฏิบัติ


                 4.การเขียนเป็นเครื่องมือสำหรับการคิด  การคิดในการเตรียมการก่อนเขียนและการคิดในขณะลงมือเขียน  ในประการหลังการคิดขณะลงมือเขียนผู้เขียนอาจเกิดความคิดในสิ่งที่ไม่ได้คิดก่อนลงมือเขียน ซึ่งคือการแก้ปัญหาและการทำความเข้าใจแง่คิดเดิม  เป็นการพิจารณาซ้ำในสิ่งที่ทำมาแล้วหรือคิดค้างอยู่  ในการสอนเขียนครูควรใช้การเขียนนี้เพื่อสร้างความคิด  เช่น เขียนเรื่องเล่าส่วนบุคคล บันทึกการคิดย้อนทบทวน การสังเกต เป็นต้น  การเขียนเพื่อการเรียนรู้ในวชาต่างๆจึงมีความสำคัญ


                5. การเขียนเกิดจากจุดประสงค์ที่ต่างกัน  การเขียนแตกต่างกันตามรูปแบบการเขียน โครงสร้างและกระบวนการ  ขึ้นกับจุดประสงค์ของการเขียนและผู้อ่าน  กระบวนการและวิธีคิดที่จะเขียนย่อมแตกต่างกัน  ในการสอนครูควรให้นักเรียนเรียนรู้ว่าการเขียนแต่ละรูปแบบแตกต่างกันอย่างไร  เพื่อจุดประสงค์และผู้อ่านแตกต่างกัน  ครูต้องให้โอกาสเด็กเขียนในสถานการณ์ต่างๆ


                6. การอ่านและการเขียนสัมพันธ์กัน  ผู้ที่อ่านมากย่อมเขียนได้ดีได้ง่ายกว่าผู้ที่อ่านน้อย  เพราะได้เรียนรู้รูปแบบของภาษาหลายรูปแบบ  ทำให้ได้แหล่งสารสนเทศและความคิด  การส่งเสริมให้โรงเรียนมีหนังสือที่เหมาะสมแก่นักเรียน และให้นักเรียนสนุกกับการอ่าน  จะทำให้นักเรียนอ่านเก่งและเขียนเก่งด้วย


         การเขียนและการคิดเกิดขึ้นอย่างผสมผสานกัน  การเขียนเปิดโอกาสให้ผุ้เขียนสำรวจความคิดและความคิดเห็นของตนเอง  แล้วทำให้ความคิดนั้นๆมองเห็นเป็นรูปธรรมได้  การคิดถือเป็นพื้นฐานของการเขียน  และเนื่องจากการคิดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  นักเรียนที่สามารถทำให้กระบวนการคิดของตนเป็นรูปธรรมโดยการเขียนได้ จะเป็นการส่งเสริมสมรรถภาพการเรียนรู้ของเขาด้วย  ( Saskatchewan Education . 2010 : Online ) 




การเขียนส่งเสริมการคิดและการเรียนรู้  ด้วยเหตุผลดังนี้


              1. การเขียนกระตุ้นการสื่อสาร  การเขียนสร้างโอกาสให้เกิดการอภิปรายในกลุ่มหรือในกิจกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


              2. การเขียนมีจุดเน้นที่ความคิดและการขยายขอบเขตของความคิด  ผู้เขียนต้องคิดเพื่อตัดสินใจว่าจะกล่าวถึงอะไรและอย่างไร  เป็นการสำรวจความคิด  การจัดระเบียบความคิด  การเลือกใช้คำ  การเพิ่มเติมหรือการตัดทอนความคิด


              3. การเขียนทำให้มีการย้อนคิดทบทวนความคิดนั้น  เมื่อมีการเขียนความคิดเป็นตัวอักษร  ก็สามารถตรวจสอบ พิจารณา ทบทวน เพิ่มเติม จัดระเบียบ หรือเปลี่ยนแปลงได้


              4. การเขียนเป็นการใช้ประสาทสัมผัสหลายทาง  ทั้งการมองเห็น ได้ยิน ชิมรส ดมกลิ่นและสัมผัสสร้างสรรค์ให้เกิดความคิดและกลั่นกรองเป็นงานเขียน




         ในการจัดการเรียนการสอนการเรียนรู้ที่จะเขียนต้องอาศัยการสอนกระบวนการเขียน  การสอนในเชิงกระบวนการช่วยให้นักเรียนเรียนการเขียนตามวิธีการที่ผู้มีความสามารถในการเขียนใช้  คือ เลือกหัวข้อ/เรื่องของตนเอง เลือกรูปแบบการเขียน เขียนจากประสบการณ์และการสังเกตของตนเอง  โดยวิธีการนี้นักเรียนจะเป็นเจ้าของในการเรียนรู้และต้องรับผิดชอบมาก  โดยครูจะต้องสอนให้นักเรียนตระหนักในสิ่งต่อไปนี้


    1. การเขียนเป็นกระบวนการกลับไปกลับมา  ผู้เขียนดำเนินการเขียนตามขั้นตอนเท่าที่จำเป็น  เริ่มจากการเตรียนก่อนเขียน การร่างข้อเขียน แล้วอาจกลับไปที่ขั้นแรกอีก  แล้วข้ามไปขั้นปรับปรุง ก่อนที่จะแก้ไขและแลกเปลี่ยนผลงานต่อกัน  การปรับปรุงและการแก้ไขอาจรวมกันตามธรรมชาติ


     2. การประเมินผลควรประเมินทั้งกระบวนการและผลงานการเขียน  เป็นการเน้นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนมากกว่าผลงานอย่างเดียว


    3. องค์ประกอบหลักของกระบวนการเขียนของผู้เขียนแต่ละคนจะคล้ายกัน  แต่ละคนจะพัฒนากระบวนการเขียนเฉพาะของตน
     4. ความสามารภในการเขียนจะเกิดจากการฝึกบ่อยๆและสม่ำเสมอ
     5. การเขียนถือเป็นกิจกรรมเดี่ยว  แต่การรวมกลุ่มทางสังคมอาจจำเป็นสำหรับนักเรียนในการพัฒนาการเขียนของตนเอง


ในครั้งต่อไปจะเสนอเรื่อง "กระบวนการเขียน"ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น