การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาความสามารถในการเขียน ตอนที่ 2

การพัฒนาความสามารถในการเขียนแก่เด็กมีแนวทางอย่างไร..?



            ครูผู้สอนภาษาไทยมักตั้งคำถามดังกล่าวข้างต้น  เพื่อหาแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จะนำพาให้นักเรียนมีความสามารถในการเขียน

            การพัฒนาความสามารถในการเขียนของนักเรียน  มีหลักการ  แนวคิดและแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนที่นักวิชาการให้ความเห็นและข้อแนะนำดังนี้

            Unicef ( 1999 ) ให้คำแนะนำไว้ว่า  การสอนเขียนมีความสำคัญและเป็นงานยาก  การให้โอกาสนักเรียนได้เขียนบ่อยๆ  ให้โอกาสในการปรับปรุงและขัดเกลาข้อเขียนของเขา  เป็นการสร้างพื้นฐานของความสำเร็จในการเขียน  สิ่งสำคัญคือ ควรให้การเขียนมีความหมาย  นักเรียนควรได้แสดงออกในหัวเรื่องที่สำคัญสำหรับเขา  ซึ่งอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและเหตุการณ์ในชุมชน
 
ข้อแนะนำอื่นๆในการสอนการเขียนได้แก่
                         
            1. เชิญชวนให้นักเรียนเขียนอย่างอิสระ  โดยมีเป้าหมายหลักของการเขียนทุกระดับคือ การสื่อสารความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
      
            2. เชิญชวนให้นักเรียนเล่าเรื่องราวให้ผู้อื่นเขียนตาม  เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการพูดและการเขียน

            3. เชิญชวนให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับชีวิตและประสบการณ์ของเขา  เพราะเด็กจะเขียนได้ดีเมื่อเขาเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่เขารู้เรื่องดี

                 4. จัดกิจกรรมให้เด็กวัย 6-9 ปี เขียนเรื่องสั้นๆ เพราะด็กไม่อาจเขียนได้นาน การเขียนบ่อยๆ  แบ่งเป็นช่วงสั้นๆให้ผลดีกว่าการเขียนช่วงเวลานานๆ


                  5. ส่งเสริมให้นักเรียนเขียนบันทึกประจำวัน  เพราะเป็นการเขียนอิสระและไม่ได้เผยแพร่แก่ผู้อื่น  ถ้าครูต้องการทราบความก้าวหน้าในความสามารถในการเขียนก็สามารถบอกนักเรียนรู้ล่วงหน้า

                  6. ให้โอกาสนักเรียนในการแก้ไข ปรับปรุงผลงานเขียน เพราะการปรับปรุงข้อเขียนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเด็กที่เริ่มเขียน

                  7. ให้โอกาสเด็กในการเขียนตามความเข้าใจ  เช่น " การหาวิธีแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์"  "ภูมิอากาศที่มีผลต่อชีวิตครอบครัวของเด็ก"  เพื่อการเขียนจะได้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเรียน

                   8. ทำให้งานเขียนของนักเรียนมีความหมาย  โดยอาจพิมพ์เผยแพร่  จัดแสดงผลงานที่ผนังห้อง  การแลกเปลี่ยนผลงานเขียนร่วมกับนักเรียนชั้นอื่นๆหรือครอบครัว/ชุมชน  การเผยแพร่งานเขียนช่วยทำให้นักเรียนเขียนอย่างมีจุดประสงค์มากยิ่งขึ้น

             
   Hebert ( 2008 ) กล่าวถึงหลักการทั่วไปของการจัดการเรียนการสอนเขียนที่เป็นที่ยอมรับได้แก่

               1. ควรมีการเขียนในทุกวิชาตลอดหลักสูตร  เพราะจากการศึกษาพบว่าวิชาใดก็ตามที่มีการกำหนดให้มีการเขียนในวิชานั้น  นักเรียนจะมีผลการเรียนในวิชานั้นดีและมีความสามารถในการเขียนดีขึ้นเป็นผลที่เกิดขึ้นร่วมกัน

               2. ปรับบทเรียนการเขียนให้เหมาะสมกับชั้นหรือวิชา เช่น ในชั้นเด็กเล็กใช้กลวิธีให้หา "คำที่ใช้บ่อยเกินไป"  ในเด็กโตใช้กลวิธีให้ทำ "ขุมทรัพย์คำ" ที่ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

              3. อ่านให้เหมือนนักเขียน  นักเขียนมักมีอุบายในการเขียนที่ทำให้ผู้อ่านสนใจและเข้าใจได้ดี ซึ่งนักเรียนสามารถศึกษาได้จากการอ่านงานเขียนของนักเขียนที่เก่ง นักเรียนจะเรียนรู้ตัวแบบเกี่ยวกับโครงสร้างและการเรียบเรียง  รวมถึงการใช้คำและการเขียนประโยค

              4. สอนกระบวนการเขียน  ครูต้องสอนกระบวนการเขียนให้นักเรียนเข้าใจอย่างแท้จริงในแต่ละขั้นตอน  เพราะจะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเขียน  ทั้นี้ครูต้องเป็นตัวแบบทุกขั้นตอน

              5. ให้ข้อมูลย้อนกลับ  ทำให้การประชุมปรึกษาหารือของนักเรียนเป็นไปอย่างง่ายๆ  ครูควรให้ข้อมูลย้อนกลับเพียง 2 - 3 ประเด็น  เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องแก้ไขข้อบกพร่องผลงานเขียนทั้งหมด  จนเกิดความท้อถอยและครูควรบันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้เพื่อแนะนำการเขียนครั้งต่อไปของนักเรียน

              6. อธิบายโดยตรงแก่นักเรียนในเรื่องทักษะการเขียน เช่น การคัด  การสร้างประโยค  การสะกดคำ  และในเรื่องกลวิธีการเขียน เช่น การวางแผน  การจัดระเบียบความคิดและการปรับปรุงผลงาน  สิ่งต่างๆเหล่านี้ต่างเป็นองค์ประกอบของกระบวนการเขียน

             7. เตรียมนักเรียนสำหรับการเขียนตามข้อกำหนด  โดยเฉพาะในการประเมินผล  ครูต้องแบ่งเวลาเพื่อการนี้ด้วย  แม้จะไม่เป็นไปตามธรรมชาติเพราะเป็นการกำหนดให้เขียน  แต่ในชีวิตข้างหน้านักเรียนต้องเรียนในระดับวิทยาลัยหรือการทำรายงานในอาชีพการงาน  ล้วนเป็นการเขียนที่ถูกกำหนดหรือบังคับทั้งสิ้น
ในตอนต่อไปเนื้อหาจะเพิ่มประเด็นสำคัญ มากยิ่งขึ้นค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น