การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการเขียน : ตอนที่ 1

          หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเขียนไว้ว่า "สาระที่ 2 : การเขียน  มาตรฐาน ท 2.1 : ใช้กระบวนการเขียน  เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ"
"ครูมดงานอย่างเรา...ทำอย่างไรจะนำกระบวนการเขียนไปสอนนักเรียนได้จ๊ะ"



                        กระบวนการเขียน ( Writing process ) หมายถึง ชุดของขั้นปฏิบัติการเขียน ซึ่งถ้าปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านั้นแล้ว จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเขียนได้ ( Time4Writing 2010:Online )ขั้นต่างๆในกระบวนการเขียนได้มาจากการพิจารณาถึงสิ่งที่นักเขียนได้กระทำในการสร้างสรรค์งานของเขา ซึ่งคือ"โลกของความเป็นจริง"ที่นักเขียนปฏิบัติ ( Trupe 2001:Online ) แต่เนื่องจากกระบวนการเขียนมีลักษณะพิเศษตรงที่ไม่ใช่เป็นกระบวนการที่เป็นเส้นตรง กล่าวคือไม่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องจากขั้นแรกไปจนถึงขั้นสุดท้าย แต่เป็นกระบวนการที่กลับไปกลับมา เมื่อเริ่มขั้นแรกไปแล้วจนถึงขั้นใดก็ตาม ก็สามารถย้อนกลับมาขั้นแรกแล้วข้ามไปขั้นอื่นๆได้อีก  แม้องค์ประกอบหลักของกระบวนการเขียนของนักเขียนแต่ละคนจะคล้ายกัน นักเขียนแต่ละคนจะพัฒนากระบวนการเขียนของตนขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ใช้กระบวนการเขียนกลับไปกลับมา ( National Council of Teachers of English.2004:Online ; Saskatchewan Education 2010:Online )


 นักวิชาการได้เสนอขั้นตอนต่างๆของกระบวนการเขียนแตกต่างกัน  แต่ละขั้นมีวิธีการและกลวิธีหรือเทคนิคที่ใช้หลายประการ


ในตอนที่ 1 นี้  จะกล่าวถึง แนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการที่เสนอขั้นตอนเกี่ยวกับกระบวนการเขียน  ดังนี้


           การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 ( ฉบับปรับปรุง 2533 ) กระทรวงศึกษาธิการ (2539:ข-ฃ) กล่าวในคู่มือครูแนะนำเรื่องการสอนเขียนที่เน้นตามรูปแบบของการสื่อสาร เช่น การเขียนรายงาน การเขียนนิทาน การบันทึกต่างๆ และการจัดการเรียนการสอนเขียนให้เน้นการเขียนในเชิงกระบวนการเขียน ซึ่งแตกต่างไปจากการสอนรูปแบบเดิมที่ครูกำหนดหัวเรื่องให้เด็กเขียน เมื่อนักเรียนเขียนแล้วครูก็ตรวจประเมิน  กระบวนการเขียนประกอบด้วยขั้นต่างๆ ดังนี้


           1. การเตรียมเขียน เป็นขั้นวางแผนการเขียน ประกอบด้วยการดำเนินการดังนี้
               1.1 กำหนดหัวข้อเรื่อง และศึกษารูปแบบการเขียน
               1.2 หาความรู้โดยการอ่าน การสัมภาษณ์ การดูของจริง การสนทนาและการศึกษาจากสื่อต่างๆ
               1.3 รวบรวมความรู้ แบ่งเป็นหัวเรื่องย่อย
               1.4 นำหัวข้อเรื่องและหัวข้อเรื่องย่อยมาจัดทำแผนภาพโครงเรื่อง และเขียนรายละเอียดของแต่ละหัวข้อตามรูปแบบการเขียน


           2. การเขียน นำแผนภาพโครงเรื่องมาเขียนเรื่องให้สมบูรณ์


           3.การปรับปรุงข้อเขียน นำเรื่องที่เขียนมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข โดยนำไปให้เพื่อนอ่านและเพิ่มเติมความคิดเห็น ปรับปรุงเพิ่มเติมความคิด ปรับปรุงสำนวน แก้ไขตัวสะกด การันต์ แล้วเขียนเรื่องให้สมบูรณ์


           ต่อมากรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ กล่าวถึงกระบวนการเขียน 7 ขั้น ดังนี้ ( กรมวิชาการ .2543:28 )
           1. Prewriting เป็นขั้นจัดประสบการณ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเขียน
           2. Writing เป็นขั้นการเขียนร่างแรก โดยมีจุดประสงค์เบื้องต้นที่เนื้อความในการเขียน
           3. Responding เป็นขั้นที่ให้ผู้อื่นช่วยอ่านงานเขียนอย่างคร่าว เพื่อชี้แนะในเรื่องข้อความหรือรูปแบบทางภาษา
           4. Revision เป็นขั้นนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงงานฉบับที่ร่างไว้ในตอนแรก
           5. Editing เป็นขั้นที่ผู้เขียนตรวจสอบความถูกต้องทางภาษาของงานเขียน
           6. Evaluating เป็นขั้นที่ครูตรวจงานเขียนของเด็ก
           7. Post-writing เป็นขั้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ  เพื่อให้เห็นคุณค่าของงานเขียนมากกว่าที่จะเป็นแค่การให้เกรด/คะแนน


          เมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอแนวการสอนเขียนโดยใช้กระบวนการเขียน 5 ขั้น ดังนี้ ( กระทรวงศึกษาธิการ.2546:189 )


          1. การเตรียมการเขียน  เป็นขั้นเตรียมพร้อมที่จะเขียน โดยเลือกหัวเรื่องที่จะเขียนบนพื้นฐานประสบการณ์  กำหนดรูปแบบการเขียน รวบรวมความคิดในการเขียนอาจใช้วิธีการอ่านหนังสือ สนทนา จัดหมวดหมู่ความคิด โดยเขียนเป็นแผนภาพความคิด จดบันทึกความคิดที่จะเขียนเป็นรูปหัวข้อเรื่องใหญ่ หัวข้อย่อยและรายละเอียดคร่าวๆ


          2. การยกร่างข้อเขียน เป็นการเขียนตามรูปแบบที่กำหนด เป็นการยกร่างข้อเขียน โดยคำนึงถึงว่าจะเขียนให้ใครอ่าน จะใช้ภาษาอย่างไรให้เหมาะสมกับเรื่องและเหมาะสมกับผู้อ่าน จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร มีหัวเรื่องอย่างไร ลำดับความคิดอย่างไร เชื่อมโยงความคิดอย่างไร


         3. การปรับปรุงข้อเขียน เมื่อเขียนยกร่างแล้ว อ่านทบทวนเรื่องที่เขียน ปรับปรุงเรื่องที่เขียน เพิ่มเติมความคิดให้สมบูรณ์ แก้ไขภาษา สำนวนโวหาร นำไปให้เพื่อนหรือผู้อื่นอ่าน นำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงอีกครั้ง


         4. การบรรณาธิการกิจ นำข้อเขียนที่ปรับปรุงแล้วมาตรวจทานคำผิด แก้ไขให้ถูกต้อง อ่านตรวจทานแก้ไขข้อเขียนอีกคั้ง แก้ไขข้อผิดพลาดทั้งภาษา ความคิดและการเว้นวรรค


         5. การเขียนให้สมบูรณ์  นำเรื่องที่แก้ไขปรับปรุงแล้วมาเขียนให้สมบูรณ์ จัดพิมพ์ วาดรูปประกอบ เขียนให้สมบูรณ์ด้วยลายมือที่สวยงามเป็นระเบียบ เมื่อพิมพ์หรือเขียนแล้วตรวจทานอีกครั้ง ก่อนจัดทำรูปเล่ม
ในตอนต่อไปเป็นการนำเสนอแนวคิดของนักวิชาการต่างประเทศ 
เกี่ยวกับ"กระบวนการเขียนและวิธีการสอนกระบวนการเขียน"ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น