การอบรมครูภาษาไทย

ขอให้โรงเรียนในโครงการพัฒนาภาษาไทย ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม โดยคลิก ที่นี่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อโดยคลิก ที่นี่ หลังการอบรมให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินผลออนไลน์ดดยคลิก ที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการเขียน : ตอนที่ 2

               การเขียนเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน  ที่เปิดโอกาสให้ผู้เขียนสำรวจความคิดแล้วทำความคิดนั้นให้เป็นรูปธรรม  การเขียนจึงกระตุ้นการคิดและการเรียนรู้ เพราะเมื่อเขียนความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว  ผู้เขียนจะตรวจสอบความคิดของตนได้ พิจารณาใหม่ได้หรือเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงหรือเรียบเรียงความคิดใหม่ได้ 
( Ghaith.2002:Online)


            ในการสอนนักเรียนตามกระบวนการเขียน  นักเรียนต้องปฏิบัติตามกิจกรรมในขั้นตอนต่างๆของกระบวนการเขียนที่มีลักษณะการคิดกลับไปกลับมา ขั้นตอนการเขียนอาจแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้


             1.การเตรียมการเขียน (Pre-writing) เป็นขั้นตอนแรกที่นักเรียนจะได้สำรวจความคิดเพื่อหาหัวข้อ(Topic) ที่จะเขียน โดยใช้กลวิธีการต่างๆได้แก่ การระดมสมอง การสร้างแผนภาพ การสัมภาษณ์ การเข้าร่วมอภิปราย การฟังดนตรี การประชุมปรึกษาหารือ การเขียนอย่างอิสระ การย้อนคิดทบทวนจากประสบการณ์ การดูตัวแบบการเขียน การจัดทำรายการ การจัดประเภทสารสนเทศ การแสดงความรู้สึกตอบสนองในการอ่านวรรณคดี การเล่นบทบาทสมมุติหรือละคร
การอ่านหนังสือ การดูสื่อต่างๆและการใช้คำถาม "ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ทำไม" เป็นต้น
               กลวิธีดังกล่าวนี้ใช้เป็นหลักสำหรับนักเรียนที่ยังขาดประสบการณ์การเขียน  ซึ่งมักมีความยุ่งยากในการเข้าถึงความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์และความรู้ ในขั้นนี้จะช่วยให้นักเรียนมีจุดเริ่มต้น และตระหนักถึงแหล่งที่จะได้ความคิดในการเขียนในวันข้างหน้า
              ในขั้นนี้นักเรียนจะเลือกหัวข้อที่จะเขียน และได้ความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับหัวข้อนั้นเพื่อพัฒนาความคิดต่อไป 




2. การวางแผน(Planning) เป็นขั้นที่นักเรียนจะต้องพิจารณาถึงจุดประสงค์(Purpose) ผู้อ่าน(Audience) แนวคิด(Point of view) และรูปแบบการเขียน(Format)
           ในด้านจุดประสงค์  นักเรียนต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการเขียนเพื่อแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็น  เพื่อเล่าเรื่อง  เพื่อบรรยาย  เพื่อความบันเทิง เพื่ออธิบาย  เพื่อโน้มน้าว  หรือเพื่อแสดงออกถึงจินตนาการ
              ในการพิจารณาถึงผู้อ่าน  นักเรียนต้องพิจารณาว่าเขาเขียนสำหรับใคร  ซึ่งอาจเป็นผู้ที่คุ้นเคยใก้ลตัวได้แก่  ตัวเอง เพื่อน ครู ครอบครัว  ผู้ที่คุ้นเคยไกลตัวได้แก่  ชุมชน  องค์การนักเรียน สื่อท้องถิ่น  หรือสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย
               ในการพิจารณาถึงแง่คิด  นักเรียนจะต้องพิจารณาว่าจะแสดงความคิดหรือสารสนเทศจากแง่มุมใด  ใครเป็นผู้เล่าเรื่องหรือเป็นผู้บรรยายเหตุการณ์  สารสนเทศอะไรที่ต้องรวบรวม  และใช้วิธีใดในการรวบรวมจึงจะได้ข้อมูลมากที่สุด/ได้ผลสูงสุด เช่น จากการสัมภาษณ์บุคคล  ทัศนศึกษาหรือค้นคว้าจากห้องสมุด
               ในการพิจาณาถึงรูปแบบการเขียน  นักเรียนต้องพิจารณาจากผู้ที่จะอ่านและจุดประสงค์ในการเขียน  ทั้งนี้เพราะนักเรียนมีโอกาสที่จะเขียนได้หลายรูปแบบ เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัว การเขียนคำแนะนำ  อธิบายวิธีการ  รายงาน  วิจารณ์หนังสือ  จดหมาย  โฆษณา  ประวัติบุคคล  บันทึกประจำวัน  เรื่องสั้น  


 3. การร่าง(Drafing) เป็นขั้นของการลงมือเขียน  โดยนำความคิดจากสองขั้นแรกมาเรียบเรียงเป็นร่างข้อเขียน  โดยมีจุดเน้นที่เนื้อหาและความหมาย  ร่างข้อเขียนแรกสุดเป็นร่างหยาบๆที่นักเรียนเรียบเรียงความคิดของตนเองอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้สาระสำคัญที่ต้องการกล่าวถึง
               ต่อจากนั้นจะมีการปรับปรุง(Revising) เพื่อปรับปรุงร่างใหม่  อาจมีการตัดบางส่วนออก หรือเพิ่มเติมเข้าไป หรือจัดเรียงความคิดใหม่  นักเรียนอาจพิจารณาเองด้วยการย้อนคิดทบทวน หรือปรึกษาหารือกับครูหรือเพื่อนๆ  เพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับหรือความคิดเพิ่มเติมที่ช่วยในการปรับปรุงข้อเขียนของเขา  นักเรียนอาจใช้ชุดคำถามหรือแบบตรวจสอบรายการ(Checklist) ช่วยในการพิจารณาหรือปรึกษาหารือ  การตรวจทานเพื่อปรับปรุงนี้มุ่งที่เนื้อหาและความชัดเจนของความหมาย  การปรับปรุงทำได้ตั้งแต่ระดับคำ ประโยค ย่อหน้า หรือทั้งฉบับ
              นอกจากนี้แล้วนักเรียนจะต้องมีการแก้ไข(Editing) เกี่ยวกับโครงสร้างทางภาษาและระเบียบแบบแผนทางภาษา  โดยต้องพิสูจน์อักษรให้ถูกต้องแม่นยำในการสะกดคำ  การเว้นวรรคตอน  ไวยากรณ์  และการใช้ภาษา  นักเรียนอาจให้เพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนช่วยในการตรวจแก้ไข  โดยใช้แบบตรวจสอบรายการช่วยในการดำเนินการ



4. การดำเนินการหลังเขียน(Post-writing) เป็นขั้นการนำผลงานของนักเรียนสู่สาธารณะ ด้วยการนำเสนอหรือการพิมพ์เผยแพร่  การจะนำเสนอต่อใครและด้วยวิธีการใดนั้นครูควรให้นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ  ครูเป็นผู้ให้กำลังใจและช่วยให้ความเห็น  เพราะการนำเสนอถือเป็นเรื่องที่มีผลต่อความภูมิใจในตนเองของนักเรียน  การนำเสนอผลงานเขียนอาจทำได้หลายวิธี ดังนี้
           4.1 การแลกเปลี่ยน(Sharing) โดยการอ่านดังๆให้ฟังทั้งชั้น  การอ่านในกลุ่มเล็กหรือติดผลงานที่ป้ายนิเทศ
           4.2 การเผยแพร่(Publishing) อาจจัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็กในชั้นเรียน  หนังสือพิมพ์โรงเรียนหรือท้องถิ่น  หนังสือประจำปี  การประกวดงานเขียน หรือวารสาร
           4.3 การใช้แฟ้มสะสมผลงาน(Portfolio) โดยครูและนักเรียนร่วมกันพิจารณาข้อเขียน  ทั้งในแง่จำนวนและความหลากหลายที่นักเรียนต้องการบรรจุผลงานเขียนในแฟ้มสะสมผลงาน เพื่อสอดคล้องกับจุดประสงค์ของการประเมิน


       Miller(2010:Online) เสนอแนะ กลวิธีที่จะใช้ในขั้นตอนต่างๆของกระบวนการเขียน ดังนี้
      


 1. การเตรียมการก่อนเขียน(Prewriting)
          - การร่างแบบ
          - การทำรายการ
          - การระดมสมอง
          - การใช้ตัวแบบ
          - การประชุมปรึกษาหารือระหว่างครู-นักเรียน-นักเรียนด้วยกัน
          - การใช้คำถาม
          - การจับคู่แลกเปลี่ยนกับเพื่อน
          - การกำหนดเวลาเขียนอย่างอิสระ
          - การจัดกลุ่ม
              
 2. การร่าง(Drafing) 
       - การใช้แผนภาพใยแมงมุม
       - การเขียนในชั้น
       - การใช้ตัวแบบ
       - การประชุมปรึกษาหารือ
       - การกำหนดเวลาเขียน
          - การเขียนลงบัตร
3. การปรับปรุง(Revising) 
      - การร่างภาพ
      - การใช้คำถาม
      - การประชุมปรึกษาหารือ
                         - การใช้ตัวแบบ
                         - การใช้รูบิค(Rubric)
                         - การให้เพื่อนให้ความคิดเห็น

4. การแก้ไข(Editing)
       - การอ่านดังๆ
       - การใช้แหล่งค้นคว้า
       - การประชุมปรึกษาหารือ
       - การให้เพื่อนให้ความคิดเห็น
       - การใช้ตัวแบบ


5. การเผยแพร่(Publishing)
    - การแสดงบนป้ายนิเทศ
    - การรวบรวมข้อเขียน
    - การทำหนังสือพิมพ์ห้องเรียน
    - การจับคู่ห้องเรียน
        - การเผยแพร่สื่ออินเทอร์เน็ต
        - การจัดทำจดหมายข่าว
การนำเสนอครั้ง นี้ เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการสอนนักเรียนตามกระบวนการเขียน 4 ขั้นตอน
ในครั้งต่อไปจะนำเสนอแนวคิดของนักวิชาการต่างประเทศท่านอื่นๆที่มีขั้นตอนการสอนกระบวนการเขียนที่ขยายความมากยิ่งขึ้นคะ่
 


                    
                                






          










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น